บขส. ปักธงประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4 แปลง 30 ไร่ 7.6 พันล.

11 ม.ค. 2566 | 00:00 น.

“บขส.” เล็งเปิดรับฟังความเห็นเอกชนประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 แปลง 11 ม.ค.นี้ นำร่องประมูลพื้นที่ 3 แยกไฟฉาย-ชลบุรี 8 ไร่ 541 ล้าน มี.ค.-เม.ย. 66 ดึง เอกชนเช่า 30 ปี พร้อมศึกษาพัฒนาพื้นที่ปิ่นเกล้า-เอกมัย

ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานผลักดันพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้เข้าองค์กร เช่น การเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่, การประมูลพื้นที่เพื่อก่อสร้างเป็นโครงการมิกซ์ยูส ฯลฯ หนึ่งในนั้น คือบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งพบว่ามีพื้นที่หลายแปลงที่มีศักยภาพ สามารถนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้

 

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์บนที่ดินทำเลศักยภาพ 4 แปลงนั้นเบื้องต้นในปี 2566 บขส.มีแผนนำร่องเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้ง 2 แปลงก่อน ประกอบด้วย พื้นที่ย่าน 3 แยกไฟฉาย จำนวน 3 ไร่ มูลค่า 428 ล้านบาท และพื้นที่ย่านชลบุรี จำนวน 5 ไร่ มูลค่า 113 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมต่อการหารายได้ โดยจะเริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง ในวันที่ 11 มกราคม 2566 หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) และจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลภายในปี 2566

“การประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในครั้งนี้ บขส.มีแผนให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ทั้งแปลง ซึ่งมีอายุสัญญาเช่าโครงการฯ อยู่ที่ 30 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการออกเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ซึ่งจะต้องพิจารณาด้านการลงทุนและความคุ้มค่าในพื้นที่แต่ละแปลงด้วย ทั้งนี้ในการประมูลจะใช้วิธีการคัดเลือกโดยเอกชนจะต้องเสนอแผนพัฒนาโครงการฯต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. ซึ่งจะพิจารณาจากแผนฯของเอกชนแต่ละรายที่ยื่นข้อเสนอเข้ามาว่ากระทบกับประชาชน,ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่และเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ หรือไม่ หากเอกชนรายใดเป็นผู้ยื่นข้อเสนอได้ดีที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล ส่วนแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จะเป็นรูปแบบโครงการมิกซ์ยูสหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเอกชนผู้ชนะการประมูลเป็นผู้ดำเนินการ”

 

นายสัญลักข์ กล่าวต่อว่า บขส.ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ย่านปิ่นเกล้า จำนวน 15 ไร่ มูลค่า 4,600 ล้านบาท เพื่อนำมาหารายได้ ปัจจุบันพื้นที่ย่านปิ่นเกล้า ถือเป็นอีก 1 โมเดล ที่มีสถานีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยมีแผนปรับเปลี่ยนเป็นสถานีจุดจอดรถตู้ เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสาร คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566 ทั้งนี้บขส.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในพื้นที่ย่านปิ่นเกล้าพร้อมกับพื้นที่ย่าน 3 แยกไฟฉายและพื้นที่ย่านชลบุรีด้วย หากเอกชนมีความสนใจก็มีแนวโน้มที่บขส.จะเปิดประมูลไปพร้อมกันทั้ง 3 แปลง

ขณะแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ย่านเอกมัยนั้น เบื้องต้นทางบขส.อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเพื่อย้ายพื้นที่สถานีจอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารย่านเอกมัย ไปให้บริการบริเวณพื้นที่ย่านบางนาแทนเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้าเมืองได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดบนถนน เนื่องจากพื้นที่ย่านเอกมัยอยู่ใจกลางกรุง ซึ่งเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้ใช้บริการแล้ว หากนำรถทัวร์ขนาดใหญ่ไปให้บริการคงไม่เหมาะสม

 

นอกจากนี้พื้นที่ย่านเอกมัยในปัจจุบันมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่คุ้มค่า รวมทั้งการจราจรที่ติดขัด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องศึกษาให้รอบคอบก่อน คาดว่าจะเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส.พิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2566 ตามแผนจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566 คาดว่าจะเปิดประมูลพื้นที่ย่านเอกมัยได้ภายในปี 2567

บขส. ปักธงประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4 แปลง 30 ไร่ 7.6 พันล.

“จากแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ บขส.ทราบว่าส่วนใหญ่เอกชนมีความสนใจที่จะประมูลพื้นที่ย่านเอกมัยมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ Prime Area”

 

 สำหรับพื้นที่ของแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ จำนวน 4 แปลง รวมพื้นที่ 30 ไร่ มูลค่า 7,641 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ย่านเอกมัย มีพื้นที่ 7 ไร่ มูลค่า 2,500 ล้านบาท 2. ย่าน 3 แยกไฟฉาย มีพื้นที่ 3 ไร่ มูลค่า 428 ล้าน บาท 3. ย่านปิ่นเกล้า มีพื้นที่ 15 ไร่ มูลค่า 4,600 ล้านบาท และ 4. ย่านชลบุรี มีพื้นที่ 5 ไร่ มูลค่า 113 ล้านบาท