พัฒนาที่ดินหมอชิต 63 ไร่ ส่อลากยาวสะดุดข้อกฎหมาย

16 ก.ย. 2565 | 12:58 น.

บขส.ลุ้น BKT อัพเดตแผนพัฒนาที่ดินหมอชิต 63 ไร่ เล็งตั้งศูนย์สถานีขนส่งผู้โดยสารรถมินิบัสพลังงานไฟฟ้ากว่า 200 คัน ฟากธนารักษ์รอสคร.ไฟเขียวข้อกฎหมาย-พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 62

กรณีโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณหมอชิตเก่า มีความล่าช้าส่งผลให้การย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร กลับมาที่เดิมยัง ไร้ทางออก

 

 

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า บขส.มีแนวทางที่จะใช้ประโยชน์พื้นที่ราชพัสดุสถานีขนส่งหมอชิตเก่า บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ เบื้องต้นเป็นการพัฒนาศูนย์บริการเชื่อมต่อสถานีขนส่งผู้โดยสารรถขนาดเล็กที่ใช้ พลังงานไฟฟ้า (EV) หรือรถชานเมืองที่เดินรถในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 200 กว่าคัน โดยย้ายรถมินิบัสที่ให้บริการบริเวณใต้ทางด่วนมาให้บริการแทน ทั้งนี้บริษัทจะใช้รถขนาดมินิบัสเพื่อรับส่งผู้โดยสาร โดยไม่จำเป็นต้องนำรถไปจอดรอผู้โดยสารเป็นเวลานานเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ

 

 

 “เราคาดว่าการเช่าพื้นที่จอดรถมินิบัสเพื่อให้บริการผู้โดยสารจะเป็นการเช่าสัญญาระยะยาว ซึ่งเราก็รอรูปแบบการพัฒนาโครงการที่ชัดเจน ว่าจะเริ่มดำเนินการตามแผนได้เมื่อไร”

 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ศูนย์บริการเชื่อมต่อสถานีขนส่งผู้โดยสารรถขนาดเล็กของบขส.จะมีการออกแบบเป็น Smart Station ซึ่งเป็นสถานีจอดรับ-ส่งผู้โดยสารรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นบริหารจัดการคล้ายกับพื้นที่ในสนามบิน ซึ่งมีการกำหนดเวลาเข้า-ออกสถานีของรถโดยสารตามตารางเวลา รวมทั้งการแสดงข้อมูลรถโดยสาร ชานชาลาด้วยระบบสารสนเทศ และมีระบบตู้ขายตั๋วอัตโนมัติและออนไลน์
 

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนา ที่ดินบริเวณหมอชิตเก่า บนที่ดินที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ติดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต สายสีเขียว ของบริษัทบางกอกเทอร์มินอล (BKT) ผู้ได้รับสัมปทาน ปัจจุบันกรมฯยังไม่ได้รับข้อมูลอัพเดตแผนพัฒนาโครงการฯดังกล่าว ทั้งนี้กรมฯอยู่ระหว่างสำนักงานคณะ กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเรื่องข้อกฎหมายระหว่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) ให้ครบถ้วนตามกระบวนการ

 

 

 “ส่วนจะได้ข้อสรุปเรื่องข้อกฎหมายเมื่อไรนั้นยังตอบไม่ได้ เนื่องจากจะใช้ระยะเวลาพอสมควร หากข้อกฎหมายผ่านการ พิจารณาจากสคร.แล้วเสร็จก็จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนต่อไป”

 

 

รายงานข่าวจากกรมธนารักษ์ กล่าวต่อว่า เรื่องข้อกฎหมายของโครงการฯนั้น พบว่าที่ผ่านมาโครงการฯดังกล่าว เคยอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 และกฎหมายตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน (PPP) แต่ปัจจุบันกฎหมาย PPP พ.ศ. 2562 มีการออกบทบัญญัติเฉพาะกาลเพิ่มเติม ทำให้กรมฯต้องดำเนินการเรื่องข้อกฎหมายให้ได้ข้อสรุปก่อน
 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด ได้ตั้งเป้าไทม์ไลน์โครงการฯ เร่งรัดดำเนินการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 หลังจากนั้นจะลงนามสัญญากับกรมธนารักษ์ใหม่ และเริ่มก่อสร้างในปี 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2571

พัฒนาที่ดินหมอชิต 63 ไร่ ส่อลากยาวสะดุดข้อกฎหมาย


   
สำหรับรูปแบบโครงการ BKT อายุสัมปทาน 30 ปี พื้นที่โครงการฯ ทั้งหมด 63 ไร่ โดยมีพื้นที่ใช้สอบรวม 888,046 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ชดเชย (มอบให้กับกรมขนส่งทางบก) 112,000 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารสถานีขนส่ง พื้นที่ใช้สอยในราชการ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ของบริษัท BKT จำนวน 776,046 ตารางเมตร เพื่อสร้างเป็นอาคารสำนักงาน, พื้นที่ศูนย์การค้า, เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ โรงแรม ที่จอดรถ ศูนย์ประชุมและสถานีรับส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งมีข้อตกลงไว้ก่อนโดยจะกันพื้นที่ให้ 112,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) เพื่อรองรับการย้ายกลับมาของบขส.หลังโครง การสร้างเสร็จ

 

 

นอกจากนี้การจ่ายผลประโยชน์ในค่าเช่าที่ดินให้กับกรมธนารักษ์ของโครงการนี้นั้น ตามสัญญาสัมปทาน กำหนดให้ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดิน 550 ล้านบาท และค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างการก่อสร้าง 509,300 บาท หลังจากก่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว ต้องจ่ายค่าเช่า 5 ปีแรกอยู่ที่ 5.35 ล้านบาทต่อปี จากนั้นปรับขึ้น 15% ทุก 5 ปี ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน