เปิดข้อมูลน้ำท่วม 30 ปี ซัดประเทศไทยเสียหายมหาศาล 12 ล้านล้าน

22 ธ.ค. 2565 | 02:06 น.

สศช.เปิดตัวเลขสถานการณ์น้ำท่วมของประเทศไทยน่าห่วง ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เกิดความเสียหายมหาศาลกว่า 12.59 ล้านล้านบาท จับตาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเปิดเผยสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ในไตรมาส 3 ปี 2565 เรื่อง เมื่อโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว : เราจะรับมืออย่างไร โดยรายงานสถิติของสถานการณ์ "น้ำท่วม" ในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา พบความเสียหายมูลค่ามหาศาล โดยระบุข้อมูลสรุปได้ดังนี้

 

ปัจจุบันภัยพิบัติ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ทวีปยุโรปเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก วิกฤตไฟป่าที่ออสเตรเลียที่สร้างความเสียหายมหาศาล น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถาน จีน เกาหลีใต้ สภาพอากาศสุดขั้วครั้งประวัติศาสตร์ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา และภัยแล้งที่ทวีปแอฟริกา 

 

เหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นปรากฏการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งจากการประมวลความถี่ของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในหนึ่งช่วงอายุของคนที่เกิดในปี 2563 จะมีโอกาสเผชิญกับภัยพิบัติมากกว่าคนที่เกิดในปี 2503 ถึง 3 เท่า 

จากรายงานการค้าและการพัฒนา (Trade and Development Report 2021) จัดทำโดย UNCTAD ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี 2543 - 2562 ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ จำนวน 7,348 ครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไป 1.23 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกกว่า 4,200 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 2.97 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

 

สำหรับประเทศไทย ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการเกิดอุทกภัย หรือน้ำท่วม จำนวนมากกว่า 40,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 12.59 ล้านล้านบาท 

 

โดยเมื่อปี 2554 ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างมาก นับเป็นอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย 

 

จากนั้นในปี 2564 ประเทศไทยได้ประสบกับภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง แม้จะไม่รุนแรงเท่าช่วงปี 2554 แต่ก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท

สศช. ระบุว่า ในอดีตคนทั่วไปมักคิดว่าภัยพิบัติข้างต้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือผลมาจากการบริหารจัดการภัยพิบัติของภาครัฐที่ยังไม่ดีพอ แต่การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ระบุว่า ภัยพิบัติดังกล่าว เป็นผลจาก "ภาวะโลกร้อน" ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 

 

โดยรายงานผลการศึกษาของ The Intergovernmental Panel on Climate Change (2021) เปิดเผยว่า อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.09 องศาเซลเซียส จากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงสุดในรอบ 2 ล้านปี และส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าในอดีตถึง 3 เท่า

 

การศึกษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า โลกร้อนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่สามารถส่งผลกระทบได้กับคนทุกคน และสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว