svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

บิ๊กซีอีโอขานรับเศรษฐกิจฟื้น ททท.ดันรายได้ 2.4 ล้านล้าน

17 ธันวาคม 2565

บิ๊กซีอีโอ ประสานเสียง “เศรษฐกิจไทย ปี 66” พลิกฟื้นเดินหน้าต่อ แนะเดินหน้าดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น ลงทุนต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรองรับทัวริสต์จีน มั่นใจ “ท่องเที่ยว” พระเอกกระตุ้นเศรษฐกิจ กวาดรายได้ 2.38 ล้านล้านบาท

จากรายการการวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ ที่ระบุว่า เศรษฐกิจโลก กำลังจะเผชิญกับปีที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 30 ปีจากวิกฤตพลังงานที่เป็นผลมาจากสงครามรัสเซียยูเครน คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 2.4% ในปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% รวมไปถึงเศรษฐกิจของยูโรโซนก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2566 ตามด้วยเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในปลายปีเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก

 

แต่ เศรษฐกิจไทย จะถดถอยหรือพลิกฟื้นและมีปัจจัยบวก ลบใดที่ต้องเฝ้าระวัง ถูกสะท้อนผ่านมุมมองของภาคเอกชนรายใหญ่ บนเวทีสัมมนา “Go Thailand : Recession or Resurrection ถดถอย VS พลิกฟื้น” ในหัวข้อ “GO Thailand: ธุรกิจไทยต้องไปต่อ” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

บิ๊กซีอีโอขานรับเศรษฐกิจฟื้น ททท.ดันรายได้ 2.4 ล้านล้าน

ภูมิศาสตร์ - 5G สร้างโอกาส

 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า ปีหน้าขอฟันธงว่าเศรษฐกิจบ้านเราจะพลิกฟื้น โดยทุกคนต้องช่วยกันทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นให้ได้ ถ้าไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นจะอยู่ในโลกลำบาก และไทยมีโอกาสอย่างมากในการพลิกฟื้นครั้งนี้ เพราะภูมิศาสตร์ประเทศไทยอยู่ในจุดน่าสนใจ

 

สำหรับการพลิกฟื้น สิ่งที่สำคัญต้องทำอย่างมาก 2 เรื่อง คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพองค์กร โดยองค์กรต้องทำดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชัน ประเทศเล็กๆ อย่างไทยสามารถแข่งกับประเทศใหญ่ๆ ได้ถ้ารู้จักให้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ และ 2. การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการรีสกิล ยกระดับความรู้ความสามารถของคนไทย ถ้าต้องการพลิกฟื้นประเทศต้องมีการทำดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชัน และรีสกิล รวมถึง 5G ที่มีความสำคัญมาก

 

ทั้งนี้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมไม่ใช่เฉพาะเอไอเอส มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมหาศาล ช่วยรัฐประหยัดเงินลงทุนดิจิทัล อินฟราสตักเจอร์จำนวนมาก หากภาคอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยการทำดิจิทัลอินฟอร์เมชันนั้นดิจิทัลอินฟราสตักเจอร์มีความสำคัญ ต้องเปิดให้อีโคซิสเต็มเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก เพื่อเปลี่ยนประเทศทำให้เกิดการทรานสฟอร์เมชันได้จริง

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

สำหรับอุปสรรคและความท้าทายในการทำธุรกิจประเทศไทย มี 2 ส่วนแรก คือ ส่วนธุรกิจ ดิจิทัลอินฟราสตักเจอร์ ไม่มีปัญหา มีการเติบโตขึ้นทุกปี ปีละ 20-30% แต่ต้องลงทุนเน็ตเวิร์กเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้น ส่วนที่ 2 คือ ผู้กำกับดูแล หรือ กสทช. เอไอเอส ประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ไป 2 แสนกว่าล้าน ซึ่งเป็นต้นทุนทั้งสิ้น เพราะประเทศที่เจริญแล้วให้ใบอนุญาตฟรี

 

 ท่องเที่ยวกกระตุ้นศก.

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า ตลอดทั้งปีนี้ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติปิดที่ 11.5 ล้านคน ส่วนในปี 2566 รัฐบาลตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวกลับคืนมา 80% ของช่วงก่อนโควิด ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับคืนมา 50% หรือไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน

 

ทำให้มีรายได้ 2.38 ล้านล้านบาท จากการมอนิเตอร์พบว่า คนอยากเที่ยว เพราะอั้นมานานกว่า 2-3 ปี คนก็อยากเที่ยวล้างแค้น และต่างชาติอย่างยุโรปก็หนีหนาวเข้ามา ส่วนปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังคือ เรื่องของเศรษฐกิจโลก และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

“ผมมั่นใจว่าท่องเที่ยวปี 66 ก็จะกลับมาเป็นพระเอกกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมมั่นใจว่าดีมานต์มา แต่เราสามารถพัฒนาโปรดักซ์ที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวหลังโควิดได้หรือไม่ ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์ในการท่องเที่ยว และการดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ก็ต้องมีการพัฒนาโปรดักซ์มารองรับ ซึ่งเราอยากเห็น การพัฒนาในฝั่งซัพพลายไซด์ ที่ต้องเติบโตเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการพลิกฟื้นการท่องเที่ยว

ยุทธศักดิ์ สุภสร

เราอยากเห็นอีโค ซีสเต็ม ด้านการท่องเที่ยวที่พลิกโฉมไปสู่ นิว อีโค ซีสเต็ม ทำให้ฝั่งซัพพลายมีสินค้าที่มีคุณภาพ มีการใช้จ่ายสูง การพัฒนาโปรดักซ์และบริการเน้นการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้เกิดการพลิกโฉมการท่องเที่ยวที่เป็น นิว แชปเตอร์ใหม่ ไม่ใช่การฟื้นท่องเที่ยวแล้วกลับมาเป็นรูปแบบเดิมที่เป็น mass tourism มีปัญหาขยะ และสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ให้ทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน”

 

เซ็นทรัลพัฒนาลงทุนแสนล้าน

 

ขณะกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา ค้าปลีกและอสังหาฯยักษ์ใหญ่ของประเทศ ซึ่งในการลงทุนแต่ละครั้ง มีผลต่อการจ้างงาน และเม็ดเงินทางเศรษฐกิจมหาศาล นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ปี 2566 ถูกประเมินว่า เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน

 

แต่เชื่อว่าจะเป็นปีแห่งการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจไทยในทุกด้านอย่างแน่นอน ซึ่งภาคบริการ และท่องเที่ยว จะได้อานิสงส์ก่อน และจะเป็นแรงกระเพื่อมให้ผู้คน เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นค้าปลีก การผลิต และ จ้างงานตามมา

วัลยา จิราธิวัฒน์

ทั้งนี้ เซ็นทรัล มองการเติบโตในระยะยาว ทั้งในแง่ธุรกิจ เศรษฐกิจ และ การพัฒนาสังคม - ประเทศชาติไปด้วยกันนั้น มั่นใจการเดินตามแผน การลงทุนใหญ่ 1.2 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2566 - 2570 ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาพใหญ่ของรัฐบาล โดยเฉพาะ การยกระดับหัวเมืองรอง กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

 

อย่างไรก็ดี บริษัทเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งของประเทศ จึงอยากเห็น การร่วมมือผลักดันของทุกภาคส่วนในสังคม 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.Transformation (ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง) 2.Urbanization (การพัฒนาเมือง) และ 3. Sustainability (ความยั่งยืน) ซึ่งจะเป็นทางรอดอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจและจะช่วยทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวได้เร็ว

 

เมดิคอลทัวริสซึมกลับมา 50%

 

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ THG กล่าวว่า 2 ปีผ่านภาพของเฮลท์แคร์ของไทยเห็นชัดว่าอยู่ในกราฟขาขึ้น ในขณะเดียวกันบางประเทศอยู่ในช่วงขาลง ส่วน THG ได้รับผลกระทบทางบวกไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือโควิด วัคซีนและ branding สะท้อนผ่านผลประกอบการนิวไฮในช่วงที่ผ่านมา

 

ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการเชิงรุกทั้งในเลเคชั่นที่อยู่ในกราฟขาขึ้นเช่นประเทศเวียดนาม คนมีกำลังซื้อ THG จึงนำเสนอบริการทางการแพทย์ได้ครบทุกเซกเม้นท์และเต็มรูปแบบ ในขณะที่โลเคชั่นกราฟขาลง เช่นประเทศเมียนมาร์ที่แม้จะมีสถานการณ์ไม่สงบภายในประเทศ แต่THG ถือเป็นท็อป ออฟมายด์ของคนไข้กลุ่มบนของประเทศ

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์

นอกจากนี้ THG ยังมีโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคจำนวนมาก ซึ่งกำลังซื้ออาจไม่เทียบเท่าในกรุงเทพฯ แต่ THG สามารถให้บริการทางแพทย์ที่แมทซ์ชิ่งกับกำลังซื้อของคนไข้โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่มมาก รวมทั้งจับมือกับบริษัทดิจิทัลอินชัวรันเพื่อช่วยผ่อนเบาภาระเวลาคนเจ็บป่วย เพราะธุรกิจเฮลท์แคร์ส่วนหนึ่งต้องห่วงใยและช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสด้วย

 

นอกจากบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศและต่างจังหวัดแล้ว THG ยังเตรียมรองรับเมดิคอล ทัวริสซึมที่ปัจจุบันเริ่มกลับมาใช้บริการทางแพทย์ในไทยแล้วเกิน 50% ส่วนใหญ่มาจากกัมพูชา อาหรับ เมียนมาร์ที่กลับมาเกินครึ่ง แต่ที่ยังไม่กลับเข้ามาคือจีน แต่เชื่อว่าตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ปี2566 คนไข้จากจีนจะกลับเข้ามา แต่หากจีนมีการผ่อนปรนมากขึ้นคนไข้ก็อาจกลับเข้ามาเร็วกว่านั้น

 

ประกันภัยพลิกฟื้นหลังโควิด

 

ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP กล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัย (ทั้งวินาศภัยและประกันชีวิต) มีทั้งปัจจัยหนุนและปัจจัยลบ ไม่ว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐหรือการลงทุนโครงการของภาคเอกชน การจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามา ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรือEV ที่จะเปลี่ยนโฉมธุรกิจประกันรถยนต์

สมพร สืบถวิลกุล

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบระดับโลก ไม่ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือ เงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย,ไต้หวัน-จีน , อัฟกานิสถาน สิ่งเหล่านี้แม้จะส่งผลลบทำให้ค่าความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น ทุกบริษัทประกันภัยในไทยต้องประกันภัยต่อไปในตลาดโลกทำให้ต้นทุนประกันภัยสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ โดยจะทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยโครงการขนาดใหญ่ทยอยเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้และปีหน้า

 

หากมองในอีกมิติจะเป็นโอกาสของธุรกิจประกันวินาศภัย เรื่องขายของราคาอย่างเดียวกัน ได้ราคาแพงขึ้น แต่ในมิติของผู้บริโภคจะทำให้ระมัดระวัง/หรือซื้อประกันภัยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โควิดที่ผ่านมา เม็ดเงินของธุรกิจประกันภัยมีการทรานเฟอร์ไปในธุรกิจโรงพยาบาล ปัญหาเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลหรือดำรงชีวิตหลังเกษียณ หรือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ต้องมีเงินสำรองสามารถมีเงินออม มีเวลธ์มากเพียงพอที่จะดูแลตัวเองและใช้ชีวิตตามไลฟสไตล์

 

อย่างไรก็ดีเมื่อโลกเปลี่ยนระบบประกันภัยจะเป็นเรื่อง Well Being ของคนทำให้เกิดสมดุลของการจ่ายเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมตามพฤติกรรม ไม่ใช่การชดเชยความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับผู้เอาประกันอีกต่อไป อีกทั้งในโลกอนาคตการประกันภัยจะ Bundle อยู่กับโปรดักต์หรือบริการอย่างหนึ่งอย่างใ ซึ่งอีโคซิสเต็มบริษัทประกันภัยจะเปลี่ยนไป