ส่งออกทรุด เศรษฐกิจไทยปี 66 เสี่ยง คู่ค้าเบรกนำเข้า

03 ธ.ค. 2565 | 22:30 น.

ส่งออกทรุด เศรษฐกิจไทยเสี่ยง รัฐ-เอกชนแห่ปรับลดตัวเลขส่งออกปี 66 โตไม่เกิน 3% สรท.ส่งสัญญาณเตรียมรับมือแรงกระแทก แบ่งเค้กค้าโลกโตแค่ 1% แนะเร่งขยาย 3 ตลาดศักยภาพ “ตะวันออกกลาง-BIMSTEC-CLMV” ลดเสี่ยงตลาดหลักซบ พร้อมตุนกระแสเงินสดรักษาสภาพคล่อง เพิ่มขายในประเทศ

ตัวเลขการส่งออกไทยเดือนตุลาคม 2565 ที่ขยายตัวลดลง 4.4% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือนนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ติดลบ 2.8% ส่งสัญญาณอันตรายต่อภาคการส่งออกไทย รวมถึงเศรษฐกิจไทยในภาพรวมนับจากนี้ตั้งอยู่บนความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)

 

การติดลบของการส่งออกไทยดังกล่าว สะท้อนถึงทิศทางเศรษฐกิจโลก เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย(Recession) หรือตกต่ำอย่างชัดเจนในวงกว้าง เป็นไปตามที่หลายสำนักพยากรณ์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ผลพวงหลักจากสถานการณ์เงินเฟ้อ ราคาพลังงาน ราคาอาหารของโลกยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นผลกระทบ ทางตรงและทางอ้อมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อไร้จุดจบ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคในเกือบทุกประเทศปรับตัวลดลง และลดการนำเข้าสินค้า

ส่งออกทรุด เศรษฐกิจไทยปี 66 เสี่ยง คู่ค้าเบรกนำเข้า

 

  • ภาพรวม Q4 ตัวเลขติดลบ

 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกของไทยในเดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.2565) คาดจะยังชะลอตัวโดยเดือนพฤศจิกายนคาดจะเสมอตัวหรือติดลบเล็กน้อย จากฐานตัวเลขส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2564 ไม่สูงมาก อยู่ที่ 2.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในเดือนธันวาคมคาดจะติดลบมากหากไม่มีปัจจัยบวกมาเสริม จากฐานตัวเลขส่งออกเดือนธันวาคม 2564 สูง อยู่ที่ 2.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ภาพรวมการส่งออกไตรมาส 4 ของปีนี้อาจจะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือติดลบเล็กน้อยประมาณ 3%

 

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

 

 “อย่างไรก็ดีจากภาพรวมการส่งออกไทย 10 เดือนแรกปีนี้ที่ขยายตัวแล้ว 9.1% (มูลค่า 243,138.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในรูปเงินบาท 8.32 ล้านล้านบาท) คาดทั้งปีนี้ส่งออกไทยน่าจะขยายตัวได้สูงสุดไม่เกิน 8% ส่วน 10% มีความเป็นไปได้น้อยมาก”

 

ขณะที่แนวโน้มการส่งออกไทยปี 2566 สรท.คาดการณ์เบื้องต้นจะขยายตัวได้ที่ 2-3% จากปัจจัยลบที่มีอยู่มาก อัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศยังอยู่ในระดับสูง บ่งชี้ถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ดัชนีภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จากช่วงเศรษฐกิจดี ๆ จะอยู่ที่ระดับ 60 ขึ้นไป ซึ่งจะมีผลต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูปที่ลดลง

 

  • คู่ค้าเบรกรับมอบสินค้า

 

ต่อมาคือ เงินบาทของไทย แม้เวลานี้จะอ่อนค่า ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อเทียบกับค่าเงินของจีน และอินเดียแล้วยังอ่อนค่ามากกว่าไทย ทำให้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าในการแข่งขันส่งออกไม่มีความได้เปรียบอีกต่อไป รวมถึงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) ของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งอออกหลักของไทยที่ยังคงอยู่ จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และการนำเข้าสินค้าของจีนจากไทยต่อเนื่องไปถึงปีหน้าที่ยังต้องลุ้นว่าจีนจะผ่อนคลายนโยบายเมื่อไร หากผ่อนคลายในครึ่งหลังของปีหน้าจะทำให้การส่งออก และภาคการท่องเที่ยวของไทยที่พึ่งพาตลาดจีนจะขยายตัวได้ดีขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก เช่น สหรัฐฯ-จีน จีน-ไต้หวัน(ที่ได้ผู้นำใหม่) สหรัฐฯ-อิหร่าน รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไร้จุดจบ ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกมีความเปราะบางและอ่อนไหว ทั้งในเรื่องความผันผวนทางการเงิน ราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และอื่นๆ โดยเวลานี้มีความน่าห่วงเศรษฐกิจของยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือติดลบ ส่วนสหรัฐฯคาดเลวร้ายสุดปีหน้าเศรษฐกิจอาจจะขยายตัว 0% ขณะที่เศรษฐกิจจีนหากผ่อนคลายนโยบาย Zero COVID จะกลับมาขยายตัวดีขึ้น

 

“จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งมีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีนี้ และในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัว เห็นได้จากเวลานี้คู่ค้าในหลายกลุ่มสินค้าได้ชะลอการรับมอบของในปลายปีนี้ รวมถึงชะลอคำสั่งซื้อสำหรับส่งมอบต้นปีหน้า เช่น ในสินค้ายางพารา สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น”

 

  • แนะคาถาประคองธุรกิจรอด

 

นายชัยชาญ ได้ให้คำแนะนำผู้ส่งออกเพื่อรับมือกับสถานการณ์ส่งออกที่จะชะลอตัวลงในปีหน้าว่า ต้องเร่งเจาะตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพทดแทนตลาดหลัก ที่มองมีศักยภาพเวลานี้ ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลางและกลุ่ม GCC (กลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ) โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียหลังฟื้นความความสัมพันธ์กับไทยการส่งออกขยายตัวมาก โดย 10 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกไปซาอุฯ 1,622 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5.56 หมื่นล้านบาท) ขยายตัว 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดปีนี้ส่งออกไทยไปซาอุฯจะได้ตามเป้าหมาย ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างแน่นอน

 

ต่อมาคือตลาด BIMSTEC (บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา) และตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่เศรษฐกิจยังขยายตัว และยังมีความต้องการสินค้า โดยเฉพาะหมวดอาหารและสินค้าอุปโภค-บริโภคจำเป็น นอกจากนี้ต้องเตรียมเรื่องกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องเพื่อประคองธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกเอสเอ็มอี การทำสัญญาหรือตกลงกับคู่ค้าในการจ่ายเงินมัดจำค่าสินค้าล่วงหน้า เพื่อป้องกันการยกเลิกออร์เดอร์ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการทำตลาดในประเทศที่กำลังซื้อขยายตัวดีขึ้น เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดีผลพวงจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้นที่ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากนอกประเทศ ทำให้หน่วยงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศออกมาคาดการณ์แนวโน้มการส่งออก และการขยายตัวของจีดีพีไทยในปี 2566 ในอัตราที่ขยายตัวลดลงจากปี 2565 อาทิ หอการค้าไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒน์ฯ คาดส่งออกไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ 3-5%, 1.0% และ 1.0% ตามลำดับ และจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.5-4%, 3.7% และ3.5% ตามลำดับ

 

  • ลุ้นจีนคลายล็อกซีโร่โควิด

 

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกไทยในปี 2566 ประเมินเบื้องต้นคาดจะขยายตัวได้ 3% จากปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ 7% ซึ่งการส่งออกที่จะขยายตัวลดลงในปีหน้า มีปัจจัยหลักจากทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อียู และอังกฤษที่เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเป็นตลาดสำคัญของไทยมีแนวโน้มถดถอย รวมถึงต้องจับตานโยบาย Zero COVID ของจีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของจีน ทำให้หลายโรงงานต้องหยุดผลิต และชะลอการนำเข้าวัตถุดิบ ทิศทางนโยบายข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าคลี่คลายก็จะเป็นผลดีต่อการส่งออกไทย

 

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

ส่วนปัจจัยรองคือที่จะมีผลกระทบ ได้แก่ ราคาพลังงาน อัตราแลกเปลี่ยน สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงข้อพิพาทสหรัฐฯ-จีนในทุกมิติอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกทั้งสิ้น

 

  • แข่งเดือดรับค้าโลกปีหน้าโตแค่ 1%

 

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร.คาดการส่งออกไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ 7-8% ส่วนปี 2566 หอการค้าไทยคาดส่งออกจะขยายตัวได้ 3-5% และจีดีพีไทยจะเติบโตได้ 3.5-4% ภายใต้การร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ในนามคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ในการขับเคลื่อนการส่งออก

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่มากทั้งทิศทางการค้าโลกที่ชะลอตัวลง โดยองค์การการค้าโลก (WTO) คาดการค้าโลกในปี 2566 จะเติบโตได้แค่ระดับ 1% จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯและยูโรโซน มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 11 เดือนข้างหน้า รวมถึงเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูงกระทบกำลังซื้อ แต่ยังโชคดีที่ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคาดปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยมากกว่า 20 ล้านคน (ไม่รวมนักท่องเที่ยวจีน) จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเกิดการจ้างงานเพิ่มของภาคเอกชน

 

  • "หมอบุญ"ห่วงส่งออกไทยปี 66 ติดลบ

 

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด (TMG) กล่าวว่า ไทยเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมา 20 ปีแล้ว ตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 1999 เวลานี้ยังมีปัญหาเรื่องพลังงาน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ยิ่งแย่ใหญ่ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสถดถอยถึง 80% ปัญหาของไทยคือ เราจะรอดได้อย่างไร เพราะส่งออกเดือนตุลาคมหดตัวลง 4.4% หรือติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือน แม้ภาพรวมการส่งออกช่วง 10 เดือนแรกยังขยายตัวได้ 9.1% แต่ทั้งปีอาจจะลดลงเหลือ 5% และปีหน้าอาจจะติดลบก็ได้ เพราะโลกถดถอย ส่งออกไทยก็ต้องชะลอตัวลง

 

“ภาคส่งออกจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคู่กับภาคท่องเที่ยว โครงสร้างเราพูดมาสิบครั้งก็ไม่เปลี่ยน เราไม่ได้ไปไฮเทคโนโลยี จะไปแข่งขันกับใครได้ อย่างเวียดนามเขาโตเอา ๆ ใน 5 ปี ส่งออกเขาแซงหน้าเราไปแล้ว และเวลานี้ขนาดจีดีพีเขาก็ตามหลังไทยไม่มาก” นพ.บุญ กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3841 วันที่ 4 – 7 ธันวาคม พ.ศ. 2565