‘ระนอง’คึกคัก เปิดฟังความเห็น ‘แลนด์บริดจ์-สนามบิน’

18 พ.ย. 2565 | 03:49 น.

ระนองคึกคัก เมกะโปรเจ็กต์ โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเดินหน้า การรถไฟฯเปิดเวทีพื้นที่ฟังความเห็นครั้งแรก งานสำรวจออกแบบทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือนํ้าลึกระนอง รับแลนด์บริดจ์ ขณะที่กรมท่าอากาศยานก็จัดประชุมฟังเสียงสะท้อนแผนขยายสนามบิน เชื่อมโยงโลจิสติกส์หลากระบบ

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 ที่ เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น ระนอง  นายบุญชัย สมใจ ปลัดจังหวัดระนอง เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือนํ้าลึกระนอง

 

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ และรับฟังข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและพิจารณาประกอบการปรับปรุงแนวทางการศึกษาให้เกิดความเหมาะสมต่อไป โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วม

‘ระนอง’คึกคัก เปิดฟังความเห็น ‘แลนด์บริดจ์-สนามบิน’

‘ระนอง’คึกคัก เปิดฟังความเห็น ‘แลนด์บริดจ์-สนามบิน’

ดร.สุวัฒน์ กันภูมิ หัวหน้ากองพัฒนาโครงการและควบคุมสิ่งแวดล้อม รฟท. กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม กำลังศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2564 

 

และได้มอบหมายรฟท. ดำเนินการศึกษา งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือนํ้าลึกระนอง เพื่อให้มีความสอดคล้องกันในการพัฒนาโครงการ  อันจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสการพัฒนาด้านอื่นๆ รวมทั้งจะเป็นการยกระดับคุณภาพการเดินทางและการขนส่ง ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น 

‘ระนอง’คึกคัก เปิดฟังความเห็น ‘แลนด์บริดจ์-สนามบิน’

‘ระนอง’คึกคัก เปิดฟังความเห็น ‘แลนด์บริดจ์-สนามบิน’

โดยจะทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมฯ ตามที่ สนข. ได้ศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2561 และศึกษาความเหมาะสมฯ เพิ่มเติม โดยให้สอดคล้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ และแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ที่อยู่ระหว่างการศึกษาของกรมทางหลวง (ทล.) 

 

พร้อมสำรวจออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และจัดทำเอกสารประกวดราคาเพื่อการก่อสร้าง และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment : EIA) 

 

การประชุมวันนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างกระบวนการรับรู้ และสร้างความเข้าใจต่อผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปประกอบ การศึกษาพิจารณาปรับปรุงแนวทางการศึกษาให้เกิดความเหมาะสมต่อไป 

‘ระนอง’คึกคัก เปิดฟังความเห็น ‘แลนด์บริดจ์-สนามบิน’

โดยแนวเส้นทางของโครงการมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางนํ้าจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และมีจุดสิ้นสุดบริเวณอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ผ่านพื้นที่บางส่วนใน 2 จังหวัด ประกอบด้วย อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร และอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง รวมระยะทาง 90 กิโลเมตร

 

แนวเส้นทางมีอุโมงค์อย่างน้อย 3 แห่ง รวมประมาณ 15 กิโลเมตร มีสถานี 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีท่าเรือชุมพร สถานีวังตะกอ สถานีพะโต๊ะ สถานีราชกรูด และสถานีท่าเรือระนอง เป็นระบบรางให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างแลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ร่วมกับโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) เส้นทางชุมพร-ระนอง (MR8) โดยมีแผนการดำเนินงานการก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2573

 

ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ปัจฉิมนิเทศโครงการงานจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดก่อสร้างแบบขยายท่าอากาศยานระนอง พร้อมศึกษารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขยายท่าอากาศยาน อาคารที่พักผู้โดยสาร และส่วนประกอบอื่น ๆ  ของท่าอากาศยานระนอง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย 

‘ระนอง’คึกคัก เปิดฟังความเห็น ‘แลนด์บริดจ์-สนามบิน’

โดยที่สนามบินระนอง มีขนาดทางวิ่ง 45 x 2,000 เมตร ขนาดลานจอดเครื่องบิน 120 x 180 เมตร และอาคารผู้โดยสารขนาด4,000 ตารางเมตร ขณะที่อัตราการใช้บริการของ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2563 จึงมีการศึกษาและออกแบบ ขยายความยาวทางวิ่งของท่าอากาศยานระนอง ให้ยาวขึ้นอีก 500 เมตร แต่ยังมีขนาดลานจอดเครื่องบินเพียง 3 หลุมจอด รองรับอากาศยานไม่เกิน 180 ที่นั่ง ได้จำนวน 2 ลำ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา 

 

ในปี 2564 กระทรวงคมนาคม มีแผนการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ Land Bridge ระนอง-ชุมพร ซึ่งต้องมีการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง รูปแบบต่างๆ ให้สอดคล้องรองรับกันจึงจำเป็นที่จะต้องขยายท่าอากาศยานระนอง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้อง การในการใช้ท่าอากาศยานในอนาคต  ซึ่งต้องขยายความยาวทางวิ่งของท่าอากาศยานเป็นอย่างน้อย2,990 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่เป็น การเร่งด่วน

 

เวทีประชุมผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการออก แบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผล กระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อประกอบการจัดทำรายงานให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

 

 

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล/รายงาน

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,837 วันที่ 20-23 พฤศจิกายน พ.ศ.2565