ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17-21 ต.ค. 2565 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา พยุหะ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ พร้อมทีมวิทยากร ไปจัดอบรมหลัก สูตรระยะสั้น ด้าน “Food Technology, Animal Science and Aquaculture” แก่อาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติพระตะบอง ประเทศกัมพูชา
กิจกรรมนี้เป็นแผนงานภาย ใต้โครงการ “Higher Education Improvement Project-HEIP กับ Faculty of Agriculture and Food Processing Technology” โดยทีมวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.วีระเวทย์ อุทโธ หัวหน้าสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ดร.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประมง และ รศ.ดร. เรืองยศ พิลาจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์
ผศ.ดร.กาญจนา กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานจากธนาคารโลก (World Bank) ต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ที่ได้ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สำหรับอาจารย์และนักวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งชาติพระตะบอง ประเทศกัมพูชา เพื่อศึกษาต่อ ณ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันมีนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 3 คน และระดับปริญญาโท จำนวน 6 คน
ในปีงบประมาณ 2565 ทางคณะเกษตรศาสตร์ได้จัดอบรมระยะสั้นนานาชาติ จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ Animal Science, Food Processing Technology, Aquaculture, Animal Nutrition, Post Harvest Technology and Agribusiness ในช่วงเดือนพ.ค. และส.ค. 2565 ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว และผลการตอบรับจากผู้เข้าร่วมการอบรมดีมาก เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยและประเทศในกลุ่มอาเซียนร่วมกันต่อไป
นอกจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติพระตะบองแล้ว เมื่อ 16-18 ส.ค. 2565 ที่วิทยาลัยเทคนิคการ อาชีพ แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทีมอาจารย์สาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำโดย ดร.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา จุฑาเกตุ และ ดร.จรุงจิต กรุดพันธ์ เป็นวิทยากร จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าในพื้นที่ดินเค็ม” ขึ้น
โดยมีตัวแทนจากองค์กรรัฐบาล สปป.ลาว ที่มีพันธกิจพัฒนาพื้นที่และชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคการวิชาชีพ ศูนย์ผลิตกสิกรรม เมืองเซบั้งไฟ แขนงการศึกษานอกระบบ แขวงคำม่วน เข้าอบรมในครั้งนี้
ดร.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ อาจารย์สาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ทีมวิทยากรได้ถอดบทเรียนจากงานวิชาการและงานวิจัยเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 ซึ่งมีโจทย์การพัฒนาและสนับสนุนโอกาส เพื่อตอบสนองทางเศรษฐกิจร่วมกัน ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานทรัพยากรชีวภาพสัตว์นํ้าให้เข้มแข็งและยั่งยืน บริเวณพื้นที่ราบลุ่มที่มีชั้นของเกลือหินและนํ้าเค็มใต้ดิน ภายใต้มิตรภาพระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างกันนี้จะเป็นฟันเฟือง ขับเคลื่อนความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองฝ่าย สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งยั่งยืนของพื้นที่เศรษฐกิจอนุภูมิภาค ลุ่มนํ้าโขง
ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชา สัมพันธ์ ก็ได้นำตัวแทนสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี ไปประชุมร่วมกับแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แขวงจำปาสัก เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการ ในการแลกเปลี่ยนมูลข่าวสาร การร่วมผลิตรายการโทรทัศน์-วิทยุ ของบุคลากรทั้งสองฝ่าย
โดยเน้นเนื้อหาด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ด้านเทคนิคต่างๆ ในการผลิตรายการ โดยฝ่ายไทยพร้อมสนับสนุนด้านทางวิชาการ เปิดให้ตัวแทนสื่อมวลชนสปป.ลาว เข้ารับการอบรมหลักสูตรของทางกรมประชาสัมพันธ์ ที่กรุงเทพฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ อุบลราชธานี มีพรมแดนติดต่อทั้งกับสปป.ลาว และกัมพูชา จึงใช้เป็นจุดแข็งผนึกความร่วมมือกับเพื่อนบ้าน เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นเศรษฐกิจร่วมกันหลังโควิด-19 คลี่ คลาย ทั้งฟื้นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษา ความร่วมมือของภาคเอกชน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วการค้าการลงทุนในอนาคต
ชลธิษ จันทร์สิงห์/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,834 วันที่ 10-12 พฤศจิกายน พ.ศ.2565