เปิดร่างกฎหมาย “ค่าเหยียบแผ่นดิน” เก็บเงินต่างชาติเดินทางเข้าไทย

25 ต.ค. 2565 | 04:10 น.

เปิดร่างกฎหมาย “ค่าเหยียบแผ่นดิน” เก็บเงินต่างชาติเดินทางเข้าไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดทำข้อมูลเสร็จสิ้นรอ ท.ท.ช. ไฟเขียว เตรียมจัดเก็บทั้งค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวทั้งทางอากาศยาน ทางบก และทางน้ำ

รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งว่า ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" ที่เดินทางโดยทางอากาศยาน ทางบก และทางน้ำ เสร็จสิ้นแล้ว

 

โดยแบ่งการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน หรือ ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ออกเป็น 2 ฉบับ แบ่งเป็น

  1. การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินทางอากาศยาน
  2. การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินทาง ทางบก และทางน้ำ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าวการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน นักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับรายละเอียดของการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ทั้ง 2 กรณี ประกอบด้วย

 

1. ค่าเหยียบแผ่นดินทางอากาศยาน มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

  • นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยอากาศยาน ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราคนละ 300 ต่อคนต่อครั้ง

 

ทั้งนี้ให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแก่บุคคลดังต่อไปนี้

  • ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย
  • ผู้ควบคุมและเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน
  • ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี
  • บุคคลอื่น ตามที่คณะกรรมการกำหนด

ผู้ดำเนินการเดินอากาศซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ มีหน้าที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นผู้โดยสารขาเข้าประเทศไทยแทนกองทุน

  • เป็นผู้ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศซึ่งมีสถานที่ประกอบธุรกิจหลักหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรตั้งอยู่ในประเทศไทย
  • เป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศของต่างประเทศที่ให้บริการแบบประจำมีกำหนด หรือแบบไม่ประจำประเภทเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินเป็นช่วงเวลา และมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือมีตัวแทนรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดเก็บและนำส่งเงินค่าธรรมเนียมของผู้โดยสารขาเข้าในประเทศไทย

 

กำหนดให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศ มีหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 

  1. จัดเก็บค่าธรรมเนียม โดยให้จัดเก็บรวมกับค่าโดยสารอากาศยาน ทั้งนี้ ให้แสดงอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บไว้ในบัตรโดยสาร หรือเอกสารอย่างอื่นที่แสดงรายการอัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้โดยสาร ต้องชำระ
  2. นำส่งบัญชีรายชื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นผู้โดยสารขาเข้าก่อนอากาศยานนั้น ออกเดินทางจากสนามบินประเทศต้นทาง
  3. นำส่งค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ให้แก่กองทุนตามวิธีการที่กองทุนกำหนด ภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้
  • ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นผู้โดยสารขาเข้า ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 ของเดือน ต้องนำส่งภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้น
  • ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นผู้โดยสารขาเข้า ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในระหว่างวันที่ 16 ถึงวันสุดท้ายของเดือน ต้องนำส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

 

ภาพประกอบข่าวเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน นักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

2. ค่าเหยียบแผ่นดินทางด่านช่องทางบก และช่องทางน้ำ มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

  • นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยผ่านด่านช่องทางบก ช่องทางน้ำ ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราคนละ 300 ต่อคนต่อครั้ง
  • นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สหพันธรัฐมาเลเซีย ราชอาณาจักรกัมพูชา ต้องชำระค่าธรรมเนียม ในอัตราคนละ 150 ต่อคนต่อครั้ง

 

ทั้งนี้ให้สิทธิ์ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแก่บุคคลดังต่อไปนี้

  • ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย
  • ผู้ถือบัตรผ่านแดน
  • ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี
  • ผู้ควบคุมและเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะเชิงพาณิชย์

 

ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดของการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ก่อนจะเสนอที่ประชุมครม.ในลำดับต่อไป

 

เช็ครายละเอียดร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ที่นี่ 

  1. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางโดยอากาศยาน
  2. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางผ่านด่านช่องทางบก ช่องทางน้ำ