ลุ้นคนละครึ่ง เฟสใหม่ – จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม 3,000 บาท ปลายปีนี้

12 ต.ค. 2565 | 00:02 น.

ลุ้น คนละครึ่ง และ เราเที่ยวด้วยกัน เฟสใหม่ หลังนายกฯ สั่งการใน ครม. ครั้งล่าสุด ระดมช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จัดงบเตรียมรองรับ ส่วนหนึ่งแจกเงินเยียวยา 3,000 บาท อีกส่วนใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำลดผ่านมาตรการยอดฮิต

หลังจากที่ประชุมครม. ครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการให้ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ 

 

โดยมอบหมายให้เตรียมความพร้อมด้านของงบประมาณ เบื้องต้นน่าจะใช้เงินประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการดำเนินการเยียวยาขั้นต้น จะเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า ในการประชุมครม. ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดทำประมาณการวงเงินงบประมาณเบื้องต้น ที่จะใช้ในการเยียวยาประชาชนที่เจอน้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม และมาตรการอื่น ๆ ที่จะดำเนินการในช่วงปลายปี 

 

สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณ ตามที่คุยในที่ประชุม ครม. ซึ่งกันงบเอาไว้ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นแบ่งเป็นการดำเนินการส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1.การเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วม 

  • ใช้วงเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท 
  • เป็นการจ่ายเยียวยาตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2560 ที่จ่ายให้กับครัวเรือนที่ประสบภัยครัวเรือนละ 3,000 บาท จำนวนผู้ที่ได้รับการเยียวยาประมาณ 2 ล้านครัวเรือน 

 

* วงเงินเยียวยาอุทกภัยในส่วนนี้ยังไม่ได้รวมในส่วนการชดเชยเกษตรกรที่พืชผลและปศุสัตว์เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวและการช่วยเหลือเพิ่มเติมในส่วนนี้จะมีการสำรวจความเสียหายอีกครั้งหลายน้ำลดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย 

 

2.การฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงปลายปี หลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว 

  • ใช้วงเงินประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท 
  • เบื้องต้นโครงการที่ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ดำเนินการจะเป็นโครงการที่เคยใช้แล้วได้ผลมาแล้วในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 เช่น เราเที่ยวด้วยกัน และ คนละครึ่ง เป็นต้น 

 

นายเฉลิมพล กล่าวว่า การที่ตั้งงบประมาณสำหรับน้ำท่วมที่จะใช้งบกลางฯไม่สูงมากเนื่องจากตอนนี้ยังเป็นช่วงต้นปีงบประมาณที่กระทรวงต่าง ๆ สามารถโยกงบประมาณหรือเปลี่ยนแปลงโครงการ เพื่อมาใช้ในการซ่อมแซมถนน สะพาน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากน้ำท่วมได้ และสำนักงบประมาณได้หารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้บางส่วนอยู่แล้ว 

 

“ในปี 2566 รัฐบาลมีงบกลางรายการใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นกรณีเร่งด่วน รวมประมาณ 9.24 หมื่นล้านบาท โดยปกติแล้วจะมีการใช้วงเงินเพื่อเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมประมาณปีละ 2 – 3 หมื่นล้านบาท” ผอ.สำนักงบฯ ระบุ