ส่งออกอัญมณีฯโตต่อเนื่อง“พาณิชย์” สั่งGTIเร่งพัฒนาผปก.ท้องถิ่น

06 ต.ค. 2565 | 06:19 น.

ส่งออกอัญมณีฯโตต่อเนื่อง“พาณิชย์”สั่งGTIเร่งพัฒนาผปก.ท้องถิ่นภาคใต้ ปรับดีไซน์ แต่ยังคงอัตลักษณ์ท้องถิ่นหวังช่วยเพิ่มมูลค่าพร้อมดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชี้ 8เดือนไทยส่งออกอัญมณีฯยังโต 69.26% เหตุตลาดหลักฟื้นทั้งสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น อาเซียน  

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ในช่วง 8 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 10,877.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 69.26% หากหักทองคำออก มีมูลค่า 5,077.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.52% ซึ่งได้รับผลดีจากวิกฤตโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ตลาดส่งออกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น และอาเซียน และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อการซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์ ของฝาก และเครื่องประดับเพิ่มขึ้น รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท ที่ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ทองคำ เพิ่ม 116.43% เครื่องประดับทอง เพิ่ม 46.40% เพชรเจียระไน เพิ่ม 56.64% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 50.31% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 55.27% และเครื่องประดับเงิน เพิ่ม 11.82% เป็นต้น

 

ส่งออกอัญมณีฯโตต่อเนื่อง“พาณิชย์” สั่งGTIเร่งพัฒนาผปก.ท้องถิ่น

ดังนั้นเพื่อเป็นการผลักดันการส่งออกอัญมณีฯอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ลงพื้นที่ต่อยอดเพื่อพัฒนาผู้ศักยภาพผู้ประกอบการในภูมิภาค ทั้งด้านฝีมือแรงงานและผลิตภัณฑ์ หลังจากที่ผ่านมา ได้จัดทำโครงการมาเหนือและอีสานมอร์เดิ้น จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงได้ให้นำโมเดลนี้ต่อยอดลงในพื้นที่ภาคใต้

ในโครงการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับภาคใต้ ให้มีการพัฒนาสินค้า ปรับดีไซน์ แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าสินค้า และผลักดันต่อยอดให้สถานที่ผลิตหรือแหล่งผลิตเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม ซื้อหาสินค้า รองรับการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ส่งออกอัญมณีฯโตต่อเนื่อง“พาณิชย์” สั่งGTIเร่งพัฒนาผปก.ท้องถิ่น

 โดยผลักดันผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนา เข้าร่วมโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence - BWC) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นหลักประกันให้กับผู้ซื้อว่า ซื้อไปแล้ว จะได้ของดีจริง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายเพิ่มขึ้น รวมทั้งขอให้ช่วยขยายช่องทางการจำหน่ายทุกช่องทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และช่วยเปิดโอกาสให้สินค้าที่ผ่านการพัฒนา เปิดตัวออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำไปจัดแสดงในงานบางกอก เจมส์ หรือช่องทางต่าง ๆ ของ GIT

“อยากให้เข้าไปช่วยเหลือและเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และพัฒนาให้ผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต ให้กลายเป็นผู้ประกอบการที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง สร้างตัวตนผ่านอัตลักษณ์อันมีค่าของท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นและออกไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศได้”นายสินิตย์กล่าว