เปิดประเทศ หนุนสายการบินเทคออฟ สู่ภาวะปกติ 165 ล้านคน ปี 68

26 ส.ค. 2565 | 05:44 น.

เปิดประเทศ หนุนสายการบินเทคออฟ สู่ภาวะปกติ 165 ล้านคน ปี2568 กพท.เร่งทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ปี 2565-2568 รับแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจการบินที่เกิดขึ้น

การเติบโตของปริมาณเที่ยวบินภาพรวมของไทยใน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2564) พบว่า เที่ยวบินมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย(CAGR) 8.75% โดยเป็นการเติบโตของเที่ยวบินระหว่างประเทศ 8.73% ต่อปี และเที่ยวบินภายในประเทศ 8.78% ต่อปี ขณะที่อัตราการเติบโตของผู้โดยสารเฉลี่ย จะอยู่ที่ 10.24% ต่อปี เป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศเติบโตเฉลี่ย 9.43% ต่อปี ผู้โดยสารภายในประเทศเติบโตเฉลี่ย11.23% ต่อปี

แต่นับจากเกิดโควิด-19 ในปี 2563 เป็นต้นมา ไทยมีผู้โดยสารลดลงจากปี 2562 ติดลบ 64.7 %และปริมาณเที่ยวบินลดลง 53.1 % ต่อเนื่องถึงปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ไทยมีผู้โดยสารภาพรวมลดลงตํ่าสุดในรอบ 10 ปี โดยมีจำนวนผู้โดยสาร 20.92 ล้านคน ลดลง 64.1% เป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1.59 ล้านคน ลดลง 90.2% และผู้โดยสารภายในประเทศ 19.33 ล้านคน ลดลง 54% จากปีที่ก่อนหน้า

 

 

ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ไทยมีสัดส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศตกตํ่าสุด คิดเป็นสัดส่วนเพียง 7.6% เท่านั้น โดยสายการบินเอมิเรตส์มีส่วนแบ่งผู้โดยเข้าไทยมากสุด อยู่ที่ 14% ตามมาด้วยการบินไทยอยู่ที่ 13.3% ขณะที่ปริมาณเที่ยวบิน ก็ลดลง 48.5% ส่งผลให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินลดลง 20.88 % และรายรับในการประกอบการการบินลดลงมากถึง 70.96%

แต่ในปี 2565 มีสัญญาณบวกในธุรกิจสายการบินอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการเปิดประเทศและการทยอยลดมาตรการจำกัดการเดินทางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เที่ยวบินระหว่างประเทศและเที่ยวบินในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวในปีนี้

 

นายวิลลี วอล์ช ผู้อำนวยการสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) หรือ ไออาต้า กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาปริมาณการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 25% ของปี 2562 ขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 42% โดยตลาดที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ลาตินอเมริกาเนื่องจากมีการคลายล็อกได้ก่อนภูมิภาคเอเชีย 

 

ขณะเดียวกันข้อมูลจาก IATA ยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2565 ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 22 ล้านคน และจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการด้านการบินอาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในปี 2568

 

การฟื้นตัวของธุรกิจการบินของไทยเติบโตชัดเจน หลังรัฐบาลยกเลิกระบบการเดินทางเข้าไทยแบบ Test & Go  เปิดประเทศเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 พบว่าไทยมีผู้โดยสารระหว่างประเทศเข้า และออกประเทศไทยทางอากาศ ประมาณ 4.2 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ประมาณวันละ 3-4 หมื่นคน โดยส่วนใหญ่ยังเป็นผู้โดยสารกลุ่มอินเดีย และสิงคโปร์ รวมทั้งหลายประเทศในเอเชีย เริ่มเปิดประเทศแล้ว จึงเป็นโอกาสให้สายการบินต่างๆ กลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศได้เหมือนเดิมแล้ว

 

เปิดประเทศ หนุนสายการบินเทคออฟ สู่ภาวะปกติ 165 ล้านคน ปี 68

 

นายคอลิน เคอร์รี่ ผู้บริหารระดับสูงของแคปิตอล เอ บริษัทแม่ของสายการบินแอร์เอเชีย หนึ่งในสายการบินต้นทุนตํ่าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า การสัญจรทางอากาศในภูมิภาคเอเชียกำลังจะฟื้นกลับมาเป็นรูปตัววี (V-shaped) เนื่องจากหลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราเห็นความต้องการของลูกค้าที่ต้องการเดินทางจริงๆแม้ว่าอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียฟื้นตัวได้ช้ากว่าภูมิภาคอื่น

 

เนื่องจากรัฐบาลต่างๆ ยังคงข้อจำกัดต่างๆ เช่น มาตรการกักตัวและการตรวจหาเชื้อไว้นานกว่าในชาติยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ค่อยๆ ยกเลิกมาตรการเข้มงวดเหล่านี้ตามลำดับและทำให้การเดินทางกลับมาคึกคักอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจการบินที่เกิดขึ้น ทำให้แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ปี 2565-2568 ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT จะโฟกัสให้ในปี 2565 มีเป้าหมายระยะ Quick-win เพื่อให้สายการบิน “อยู่รอด” สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงที่ยังคงมี การระบาด โดยมีกลยุทธ์ในการเพิ่ม สภาพคล่องทางการเงิน ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวก

 

สำหรับปี 2566-2568 เป็นเป้าหมายระยะกลางตามมาตรการ “เข้มแข็งและ ยั่งยืน” คือ ประเทศไทยมีความพร้อมของอุตสาหกรรมการบินที่จะรองรับการจราจรทางอากาศเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติหรือเทียบเท่ากับปี 2562 ในปี 2568 ที่มีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 165 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 1.07 ล้านเที่ยวบิน โดยมีเป้าหมาย

 

เช่น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยระบบกำกับดูแลทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการเดินทางแบบ New Normal ในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน โดยการพัฒนาสถาบันฝึกอบรมให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ของไทยให้ทัดเทียมสากล เพื่อให้ธุรกิจการบินของไทยกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งและเป็นกลไกในการฟื้นการท่องเที่ยวของไทย