‘อาร์เซลิก’ 1 ปีและก้าวต่อไป กับการสร้างแบรนด์ ‘ฮิตาชิ’ 

06 ส.ค. 2565 | 01:59 น.

“อาร์เซลิก” ยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้าจากยุโรป  ได้ประกาศตั้งไทยเป็นเฮดควอเตอร์ของแบรนด์ “ฮิตาชิ” ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังเข้าร่วมทุนกับบริษัท ฮิตาชิ โกลบอล ไลฟ์ โซลูชันส์ (ฮิตาชิ GLS) ด้วยสัดส่วน 60:40

ก่อตั้งบริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ภายใต้การนำของ “ซาแฟร์ อัสทูเนอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ จำกัด
 

“ซาแฟร์” ร่วมงานกับ อาร์เซลิกมากว่า 30 ปี และเดินทางไปในหลายประเทศรวมทั้งไทย ที่เขานั่งเป็นผู้บริหารอาร์เซลิก ประเทศไทย แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า Beko นานถึง 5 ปี ก่อนโยกมาทำหน้าที่แม่ทัพ อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ 

จากความร่วมมือ อาร์เซลิก ได้เข้ามาทำหน้าที่ดูแลการผลิตและการตลาดให้กับแบรนด์ฮิตาชิ ภายนอกประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด ส่วนของโรงงานผลิตทั้งในไทยและจีน ก็ผลิตสินค้าส่งกลับไปขายที่ญี่ปุ่นและทั่วโลก โดยโรงงานที่ไทยผลิตสินค้าส่งออกขายในจีน อาเซียน และกลุ่มประเทศเอเปค หรือเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งตะวันออกกลาง รวม 65 ประเทศ และมากกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าฮิตาชิที่ใช้กันในครัวเรือนตามประเทศต่างๆ ผลิตขึ้นที่ฐานผลิตในประเทศไทย
 

 

“ซาแฟร์” ได้กำหนดเป้าหมาย ที่จะนำพาให้อาร์เซลิก ฮิตาชิฯ เป็นบริษัทที่เติบโตต่อเนื่อง ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า ด้วยการนำไอเดียใหม่ๆ มาใส่ในทุกๆ ส่วนและในโปรดักต์
 

 

“เนื่องจากอาร์เซลิก เป็นผู้เข้ามารับช่วงต่อ สิ่งที่เราต้องการจะทำ คือ ต้องทำให้ดีขึ้น และสานต่อสิ่งที่เขาทำอยู่แล้วให้ดีมากยิ่งขึ้นในทุกๆ รายละเอียด”
 

ขณะเดียวกัน การตั้งให้ไทยเป็นเฮด ควอเตอร์ ก็ต้องมีการบริหารจัดการที่ลงรายละเอียด เริ่มตั้งแต่การคัดสรรบุคลากรระดับหัวกระทิเข้ามาร่วมทีม การหาผู้นำในแต่ละฟังก์ชั่นงาน ซึ่งขณะนี้ เขาต้องบริหารทีมงานที่มีความแตกต่างถึง 19 เชื้อชาติ โดยต้องนำพาทุกคนให้เดินหน้าไปสู่จุดหมายเดียวกัน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของคอนซูเมอร์อย่างเหมาะสมและอย่างที่ลูกค้าอยากได้

 

“ซาแฟร์” บอกว่า ทุกๆ อย่างคือคีย์สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ไม่ว่าจะเป็น บุคลากร สินค้า การตอบโจทย์ลูกค้า การคิดและออกแบบพัฒนาโปรดักส์ที่สอดรับกับการใช้งานของคนในแต่ละประเทศ หรือแต่ละภูมิภาค ที่มีความแตกต่างกันทั้งพฤติกรรมการใช้งาน และสภาพแวดล้อม อย่างเครื่องซักผ้า ในยุโรปวางเครื่องซักผ้าไว้ในบ้าน แต่ที่เมืองไทย หลายบ้านวางเครื่องซักผ้าไว้นอกบ้าน เพราะฉะนั้น ความทนทานและดีไซน์จะแตกต่างกัน ทุกอย่างต้องลงรายละเอียด เพราะความสำเร็จ คือ ความพอใจของลูกค้า


การสร้างองค์กรที่ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ทำให้ “ซาแฟร์” ต้องทำการวิเคราะห์ทุกๆ ส่วน ปีแรกคือ การตรวจ เช็ค วิเคราะห์ สร้างทีมที่แข็งแรง แล้วค่อยๆ ถ่ายโอนงานจาก ฮิตาชิ GLS มาสู่อาร์เซลิก ฮิตาชิฯ พร้อมทั้งทำแอคชั่นแพลน เดินหน้าธุรกิจ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่แฮปปี้ ที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทุกคนมีความกระตือรือร้น ปีที่สองคือ ผลของการดำเนินงานและ ปีที่สาม องค์กรจะมีความแข็งแรง พร้อมเดินหน้าต่อได้เต็มที่ 
 

ผลลัพธ์หนึ่งปีที่ได้ คือ ยอดขายที่เติบโต พร้อมกับทีมงานที่ดีและแข็งแรงมากๆ จนทำให้บริษัทแม่อนุมัติงบลงทุนก้อนใหม่ สำหรับการพัฒนาทีม และโปรดักต์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด 
 

“ซาแฟร์” ให้ความสำคัญอย่างมากกับการสื่อสาร เขาบอกว่า การสื่อสารด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง พร้อมทั้งการตัดสินใจที่มีเหตุมีผล และการสื่อสารออกไปอย่างดี คือ สิ่งที่ต้องทำ ประตูห้องทำงานของซีอีโอคนนี้เปิดเสมอ เพื่อให้ทีมงานของเขาได้เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยน และตัวเขาเอง ก็พร้อมเดินออกมาพูดคุย เปิดโอกาสในการเข้าถึง
ผู้บริหารสูงสุดกับทุกคน 
 

“หัวใจของความสำเร็จ คือ การให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด และมีการดัดสินใจที่มีเหตุมีผล”
 

เป็นที่รู้กันดีว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกเผชิญผลกระทบจากโควิด-19 อาร์เซลิก ฮิตาชิฯ ขาดแคลน material ในการผลิตสินค้า ซ้ำยังต้องเจอกับพิษเศรษฐกิจเงินเฟ้อ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ด้วยปัจจัยลบที่หลากหลาย เป็นความท้าทายอย่างหนักที่ทำให้ “ซาแฟร์” ต้องบริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมๆ กับการบริหารจัดการให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด และต้องมีวิธีโอปอเรทให้องค์กรพัฒนาได้เร็วที่สุด
 

“ซาแฟร์” บอกว่า ธุรกิจมีขึ้นมีลง แต่หลังจากนี้ เชื่อว่าเอเปคจะเติบโตต่อได้ และเติบโตมากกว่าฝั่งยุโรป และนั่นคือโอกาสทางธุรกิจ 
 

ขณะเดียวกัน ในฐานะผู้ผลิต ก็ต้องคิดเรื่องความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พยายามพัฒนาโปรดักต์ที่ผู้บริโภคใช้ได้นาน ใช้วัสดุในการผลิตที่ดี พร้อมๆ กับลดการใช้พลังงานฟอสซิล หันมาใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น 
 

“ความท้าทายของผู้บริหาร คือ จะทำอย่างไรให้ทุกอย่างเพอร์เฟค เวลานั่งในตำแหน่งนี้มีความท้าทายเข้ามาตลอดเวลา ไม่ว่าจะการแข่งขัน หรือวิกฤตต่างๆ รวมถึงความท้าทายในด้านความยั่งยืน ในขณะที่ resource มีจำกัด มันคือหน้าที่ที่ผู้บริหารต้อง operate ทุกอย่างให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”
 

จากวิธีการทำงาน ที่มีการวิเคราะห์ และลงรายละเอียดในทุกส่วนงาน ของซีอีโอ “ซาแฟร์ อัสทูเนอร์” ประกอบกับอาร์เซลิก เป็นบริษัทที่มีความรวดเร็วในการทำงาน หาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เร็ว นั่นคือเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้องค์กรแห่งนี้เดินไปสู่เป้าการเติบโตที่ตั้งไว้ พร้อมๆ กับการพัฒนาและออกโปรดักต์ใหม่ๆตามเป้า ซึ่งนับจากนี้ อาร์เซลิก ฮิตาชิฯ จะมีโปรดักต์ใหม่ๆ ที่หลากหลายและโดดเด่นด้วยดีไซน์ ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง ส่วนจะเป็นอะไรและตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างเราๆ แค่ไหน ก็ต้องติดตามดูกัน 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,806 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2565