"เรียนรู้-ใส่ใจ Research" บริหารเทคคัมปานี สู่ผู้นำตลาด 

09 ก.ค. 2565 | 02:52 น.

การบริหารธุรกิจยุคนี้ ไม่มีกฎตายตัว ใครที่มัวไปเอาโมเดลคนอื่น หรือวัฒนธรรมองค์กรอื่นมาลอกเลียนแบบ ก็ถือว่า “ถอยหลัง” ตั้งแต่เริ่มต้น ยิ่งกับองค์กรยุคใหม่ หรือสตาร์ทอัพด้วยแล้ว ยิ่งต้องคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วน 

2 นักพัฒนาเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน ผู้ก่อตั้ง Forward Lab เทคคัมปานี ที่กำลังลุยธุรกิจเต็มที่ “ชานน จรัสสุทธิกุล” หรือ “บีม” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Forward Holdings อดีตนักพัฒนาโปรแกรม และโปรเจ็คท์ เมเนเจอร์แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลสตางค์โปร

ชานน จรัสสุทธิกุล

และ “ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน” หรือ “เอ็ม” ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษากลยุทธ์ด้านการเงิน ที่เป็นทั้งอาจารย์และนักวิจัยภาควิชาคณิตศาสตร์เชี่ยวชาญด้านการกำหนดราคาอนุพันธ์และการป้องกันความเสี่ยงการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินในโมเดลเชิงคณิตศาสตร์ ในการเลือกพอร์ตลงทุน และยังเป็นที่ปรึกษากลยุทธ์ทางการเงิน (Financial Strategic Advisor) ให้กับบริษัท Satang Inc.

ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน

ทั้งสองผู้บริหารรุ่นใหม่บอกว่า ธุรกิจที่เขาสองคนเลือกทำ เป็นธุรกิจในตลาดที่มีโอกาสการเติบโตและเป็นธุรกิจที่ยังมีคู่แข่งไม่มากนัก โดยตลาดต่างประเทศ เป็น Decentralized Derivative Exchange และ DeFi (Decentralized Finance) ส่วนตลาดในไทย เปิด Forward Lab บริษัทเทค
 

“ธุรกิจพวกนี้น่าสนใจเพราะ Derivative อย่าง SET เขาเปิดมานานตลาดหลักทรัพย์ก็ทำ TFEX และมีคนใช้พอสมควร ฝั่งตลาดคริปโตก็เหมือนกัน ในอนาคตในไทยมีโอกาสที่หน่วยงานจะเปิดกว้างมากขึ้น วันๆ ตลาดฟิวเจอร์ของบิทคอยน์ เทรดกันอยู่ที่ 150,000 ล้านสหรัฐ เป็นเงินไทย เป็นหลักล้านล้าน โตกกว่าตลาดที่ซื้อบิทคอยน์ 3-4 เท่า ตลาดนี้ คือ 1. มันใหญ่ และ 2. เราไม่ได้อยากเป็นคู่แข่งกับ Centralized Exchange ซึ่่งมันมีอยู่เยอะ เราอยากไปทำในสิ่งที่มันยังไม่มี และก็มีมาร์เก็ตที่ใหญ่ที่เราสามารถไปแชร์ตลาดกับเขาได้” 


ตลาดการเงินดิจิทัล จากมุมมองของสองผู้บริหารนี้ ยังมีโอกาสอีกมาก แต่การจะทำให้ธุรกิจเติบโตและประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่เห็นใครทำแล้วทำตาม แต่สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่ยังเป็นงาน Research 
  "เรียนรู้-ใส่ใจ Research" บริหารเทคคัมปานี สู่ผู้นำตลาด 

“เทคเปลี่ยนเร็ว...มันมาจาก Research มันเป็นในเปเปอร์มาก่อน แล้วคนก็มาถอดงานวิจัยเหล่านี้ลงสู่คอมเมิร์ซเชียล แล้วพัฒนามาเป็นโปรดักต์ ซึ่งแต่ละขั้นตอนกินเวลาปีสองปี สิ่งที่เราทำต้องไม่ใช่ตามโปรดักต์ แต่ตามตั้งแต่ Research ตอนนี้ Research อะไรที่ดัง อะไรที่น่าสนใจ คนอ่านกันเยอะๆ ตามต่อไปที่งานที่ Prototype มันจะทำให้เราวิเคราะห์ออกว่าจะเป็นไปอย่างไรต่อ ถ้าไปรอที่โปรดักต์เราไม่ทันเขาแล้ว”


ความที่เทคเป็นอะไรที่เปลี่ยนเร็ว ไปเร็ว ดังนั้น คนที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ จึงต้องมีทั้งแพชั่น และหัวใจใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา หยุดนิ่งไม่ได้ ไม่ใช่แค่เพียงผู้นำ แต่ทีมงานทั้งหมด ต้องมีทักษะ และมีคุณลักษณะในแบบเดียวกัน 


รูปแบบการทำงานของ Forward จะมีเป้าแต่ละเดือนของแต่ละทีม พอต้นเดือนก็มีการคุยทั้งทีม หยิบแผนมาดู ระดมสมอง ช่วยกันตัดสินใจ ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น และดูว่าแผนเป็นไปได้ไหม งบเยอะไปไหม ทีมก็จะมีการวางแผนกันทุกวีค ใครทำอะไร และทุกวันบ่ายสาม ก็มาคุยกันว่า เมื่อวานทำอะไร วันนี้ทำอะไร สรุปงาน สั้นๆ 10 นาที เหมือนการประชุมก่อนเริ่มงาน 


ส่วนของตัวผู้นำ ทั้ง “บีม” และ “เอ็ม” บอกว่า เขาก็ต้อง “Learn-Unlearn-Relearn”...ผมจะไปเอาวัฒนธรรมที่ผมเคยทำ หรือไปเอาระบบของคนอื่นมาทำไม่ได้ เราต้องปล่อยให้บริษัทเราไปตามทิศทางของเรา ต้องค่อยให้ๆ บริษัท “Learn-Unlearn-Relearn” ไปตามเหตุและผล เราไม่เอาของคนอื่นมาใช้แล้วไปแบบมั่วๆ เราจะทำ เมื่อมันสมควรทำจริงๆ 


 “เอ็ม” บอกว่า ความท้าทายของเทคสตาร์ทอัพ คือ การทำกำไร และการหาคนที่ใช่มาร่วมงาน ซึ่งหายากมาก เพราะบางทีมาขอเงินเดือนไม่สมกับสกิล คุณสมบัติไม่ได้ 


 “บีม” เสริมว่า การนั่งบริหารตรงนี้ เขาเองก็ต้องเรียนรู้สิ่งที่พนักงานอยากได้ เขาอยากได้เงินเดือน หรือความก้าวหน้า แล้วตอบสนองเขาด้วยสิ่งนั้น แต่ที่สำคัญคือ พนักงานเหล่านี้ ต้องมีแพชั่น ไม่ได้หวังแค่เงินเดือน ต้องมีความอยากเรียนรู้ อยากทำให้สำเร็จ ในขณะที่องค์กรก็ต้องให้ประสบการณ์ที่ดี ให้เขาได้เรียนรู้ และต้องทำด้วยความจริงใจ 
 

ภายในปีนี้ Forward จะทยอยออกโปรดักต์ทั้งสำหรับตลาดในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ และพัฒนาให้นักลงทุนได้เห็นว่า สิ่งที่เขาลงทุนมา ตอบโจทย์การลงทุนของเขา ซึ่งทั้ง 2 หนุ่มผู้ก่อตั้งเชื่อมั่นว่า เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งนักลงทุนและตลาดการเงินดิจิทัลแน่นอน
 

ในวันนี้ Forward กำลังตั้งไข่ ทุกคนทำงานหนักมาก เพื่อลอนซ์แพลทฟอร์มและโปรดักต์ ที่จะปล่อยทั้ง Forward Defi และ Forward Advisory และ โทเคน ที่จะเป็นคอมมูนิตี้ เป็นแหล่งข้อมูล (Data Center) และจะทำเทรดดิ้ง เอไอ วิเคราะห์ การเทรด บอกสถิติในเชิงตัวเลข แต่ไม่ได้บอกว่า ควรซื้อหรือควรขายอะไร ไม่เมื่อไร พร้อมกันนี้ ก็จะทำ Fund Management และร่วมกับบริษัทใหญ่ๆ นำบล็อกเชนไปทำธุรกิจ รวมถึงการทำเรื่องการให้ความรู้กับประชาชนและสังคม
 

เรียกว่า เป็นการสร้าง Ecosystem ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง เป็นการขยายธุรกิจอย่างเต็มที่ ซึ่งในวันนี้ ผู้บริหาร


ทั้ง 2 ก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่า Forward ในอีก 5 หรือ 10 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ จาก 4-5 เดือนที่แล้ว กับปัจจุบัน Forward ก็ต่างจากเดิมไปอย่างลิบลับ เพราะฉะนั้น อนาคตเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ไม่แน่ว่า Forward อาจจะกลายเป็นหนึ่ง เทคสตาร์ทอัพยูนิคอร์นพันธุ์ไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็เป็นได้

 

หน้าที่ 17  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,798 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565