กู้เครื่องบิน "นกแอร์"ไถลออกนอกรันเวย์สำเร็จแล้ว

04 ส.ค. 2565 | 02:02 น.

กู้เครื่องบิน "นกแอร์"ไถลออกนอกรันเวย์สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายสำเร็จแล้ว โดยเป็นการกู้ทั้งลำจากจุดที่ลื่นไถลมาถึงบนรันเวย์แล้ว พร้อมเคลื่อนย้ายไปยังที่จอด คาดเปิดสนามบินเชียงราย6ส.ค.นี้

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในวันนี้(วันที่ 4 สิงหาคม 2565)เมื่อเวลา​ 04.00​ น. ได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายเครื่องบินโบอิ้ง B737 - 800 ของ"นกแอร์"ที่ลื่นไถลออกนอกรันเวย์สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายสำเร็จแล้ว โดยเป็นการกู้ทั้งลำจากจุดที่ลื่นไถลมาถึงบนรันเวย์แล้ว

 

กู้เครื่องบิน \"นกแอร์\"ไถลออกนอกรันเวย์สำเร็จแล้ว

ต่อไปคือเคลื่อนย้ายไปยังที่จอด ซึ่งเคลื่อนย้ายช้าๆ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 12-15 ชั่วโมง จุดเกิดเหตุกับอาคารผู้โดยสารสนามบินแม่ฟ้าหลวง ที่ห่างกันมาก

 

กู้เครื่องบิน \"นกแอร์\"ไถลออกนอกรันเวย์สำเร็จแล้ว

 

อย่างไรก็ตามการเปิดใช้สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย น่าจะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ ตามประกาศขยายปิดรันเวย์ของสนามบินถึงวันที่ 5 สิงหาคม2565 แต่ทั้งนี้ถ้าสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นทางสนามบินจะแจ้งอีกครั้ง

 

กู้เครื่องบิน \"นกแอร์\"ไถลออกนอกรันเวย์สำเร็จแล้ว

 

ล่าสุดกพท.หรือ CAAT ตรวจสอบมาตรฐานสนามบินแล้ว อนุมัติเปิดสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย (ทชร.) ตั้งแต่เวลา 22.30 น. ของวันที่ 4 ส.ค. 65 เป็นต้นไป

 

โดยในวันนี้ได้ขยายเวลาให้ปฏิบัติการบินได้ถึง 22.30 น. เพื่อให้สายการบินไทยเวียตเจ็ทปฏิบัติการบินเที่ยวแรกเพื่อนำเครื่องบินที่ติดค้างที่ ท่าอากาศยานเชียงราย บินลำเปล่าออกได้

 

ด้านเพจดัง GATC Thailand  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานที่เคลื่อนย้ายเครื่องบินนกแอร์ ตั้งแต่วันที่31กรกฏาคม 2565 ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า ออกมาไขข้อข้องใจเรื่องความไม่พร้อมของผู้ดำเนินงานสนามบินในการบริหารจัดการเพื่อเคลื่อนย้ายอากาศยานลำดังกล่าวใน 3 ประเด็นหลัก กล่าวคือ 

 

1. ทำไมสนามบินถึงต้องใช้ระยะเวลานานถึง 5 วันในการเคลื่อนย้าย 
   

2. ทำไมสนามบินต้องขอรับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ในการกู้ภัยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง กรมท่าอากาศยาน กองทัพอากาศ การบินไทย สนามบินนานาชาติ ไม่มีอุปกรณ์เป็นของตนเอง 

 

3.  เรื่องมาตรฐานการดำเนินงานของสนามบินในเรื่องดังกล่าว 

 

ทางแอดมินซึ่งมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานที่กำลังดำเนินการเคลื่อนย้ายฯ อากาศยาน ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.65 จนถึงเวลานี้ ขอนำอนุญาตตามข้อสงสัยของลูกเพจที่สอบถามเข้ามา ดังนี้นะครับ 

 

กู้เครื่องบิน \"นกแอร์\"ไถลออกนอกรันเวย์สำเร็จแล้ว

เรื่อง การเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal) มาตรฐาน ICAO (International) ปฎิบัติและข้อกำหนดภาครัฐ กพท.ระบุไว้ว่า 

 

“ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสายการบินเกิดเหตุ โดยมีสนามบินให้การสนับสนุน แต่ในกรณีที่สายการบินไม่สามารถดำเนินการเคลื่อนย้ายได้ สนามบินจะเข้าดำเนินการเอง”หรือ ทำงานร่วมกันภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ  

 

ซึ่งตรงนี้ กำหนดไว้ใน “ แผนการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคู่มือการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ (Aerodrome Manual) ที่ได้รับความเห็นชอบโดย กพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือน (Regulator) ของประเทศไทย      
 

และในส่วนของสายการบินนกแอร์ (ผู้ประกอบการสายการบินอื่นๆประเทศไทย) ต่างต้อง มีแผนฉุกเฉินการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องที่สอดคล้องกับแผนฉุกเฉินของสนามบิน 

 

โดยในแผนเคลื่อนย้ายฯ ระบุว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อากาศยานขัดข้องให้การบินไทยเป็นผู้ดำเนินการเข้ามาเคลื่อนย้าย 

 

เนื่องจาก การบินไทยเป็นผู้ประกอบการที่มีขีคความสามารถ มีอุปกรณ์ ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ เพียงรายเดียวในประเทศไทย และต่างประเทศก็เคยมาขอให้ไปช่วยฯ 
 

ดังนั้น การบินไทยต้องจัดส่งเจ้าหน้าทีมเคลื่อนย้ายฯ (Aircraft Recovery) และวัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากศูนย์กลางคือกรุงเทพฯ เดินทางเข้ามาดำเนินการ จึงเป็นที่มาว่าทำไม  การบินไทยจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้องในส่วนของการบินไทยเดินทางมาที่สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย   

 

สำหรับประเภทอุปกรณ์หลัก อุปกรณ์เสริมในการดำเนินเคลื่อนย้าย ฯ  ขึ้นอยู่กับลักษณะท่าทางของอากาศยาน เช่น ล้อหน้าจมดินมั้ย ยางแตกมั้ย  ออกไปไกลจากทางวิ่งกี่เมตร น้ำหนักของอากาศยานเป็นจำนวนเท่าไร 

 

โดยในกรณีนี้ อากาศยานตกลงด้านข้างทางวิ่ง และจมดิน จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แผ่นปูพื้นทางชั่วคราวที่สามารถรับน้ำหนักอากาศยานได้     

สำหรับวัสดุอุปกรณ์อื่นๆที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง กรมท่าอากาศยาน  กองบิน 41 ทหารอากาศ  หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย เป็นข้อมูลที่สนามบินได้จัดทำรายชื่อหน่วยงาน จำนวนวัสดุอุปกรณ์กับหน่วยงานนั้น ในแผนเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องของสนามบิน อยู่แล้ว 

 

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท.เท่านั้น แต่ทุกสนามบินในประเทศไทยจำนวน 39 แห่ง ทั้งของ ทอท. (6 แห่ง)  กรมท่าอากาศยาน (29 แห่ง)   บางกอกแอร์เวย์ ( 3 แห่ง)  และอู่ตะเภา ต่างดำเนินการเป็นมาตรฐานเดียวกัน ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ จะต้องติดต่อหน่วยงานใด ประเภทอุปกรณ์อะไร จำนวนเท่าไร 

 

การขนส่งด้วยวิธีการใด ระยะเวลาในการเดินทางมาเมื่อไร ซึ่งรายละเอียดต่างหากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการฟื้นฟู (Recovery) หรือเคลื่อนย้ายอากาศยาน เพื่อให้สนามบินกลับมาเป็นบริการให้เร็วที่สุด  

 

ส่วนสถานการณ์เมื่อวันที่ 2 ส.ค.65 ในช่วงบ่ายๆ ขณะที่เตรียมลากจูงอากาศยานลำดังกล่าวขึ้นมาบนทางวิ่ง เกิดปัญหาข้อขัดข้องทางเทคนิค+สภาพแวดล้อมระหว่างลากจูงอากาศยาน ทำให้ทางทีมงานฯ ต้องปรับแผนการดำเนินการใหม่ทั้งหมด

 

และได้มีการประชุมฯ ร่วมกันในเวลา 21.00 น.เพื่อประเมินสถานการณ์และสรุปว่า ต้องประกาศ NOTAM  ขยายระยะเวลาปิดทางวิ่ง ออกไปอีก 2 วัน คือ วันที่ 4-5 ส.ค.65 (เปิดวันเสาร์ที่ 6 ส.ค.65 เวลา 06.00 น.) 

 

สำหรับสาเหตุหลักสำคัญ ในการประกาศขยายระยะเวลา คือ การแจ้งให้ผู้ประกอบการสายการบินได้มีการวางแผนล่วงหน้าในการจัดตารางเที่ยวบิน และสื่อสารแจ้งผู้โดยสารล่วงหน้าในการตัดสินเดินทางโดยเร็วที่สุด 

 

พร้อมการอำนวยความสะดวกของผู้โดยสาร ซึ่งหากเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องได้ก่อนเวลา สนามบินก็พร้อมที่จะกลับมาเปิดให้บริการทันที ก่อนเวลาที่ประกาศไว้ 

 

อย่างไรก็ตาม  หากทุกสนามบินในประเทศไทยทั้ง 39 แห่ง ต้องจัดให้มีอุปกรณ์กู้ภัย/เคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง ประจำทุกสนามบิน เพื่อใช้เตรียมไว้สำหรับรอเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องที่เกิดจากอุบัติเหตุ อุบัติการณ์รุนแรง คงต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาล รวมทั้งมีตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายนี้ มีจำนวนไม่มากในประเทศไทย