“นกแอร์”เดินแผนเพิ่มทุน 4 พันล้าน เพิ่มฮับบินใหม่ “สนามบินสุวรรณภูมิ”

22 ก.ค. 2565 | 03:53 น.

นกแอร์สัญญาณดี ปรับแผนปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่ ยกเลิกกู้เงิน 280 ล้านบาทในปีนี้ เดินหน้าเพิ่มทุน 600 ล้านบาทในปีนี้ 4 พันล้านบาทในปี69 รองรับการขยายฝูงบินใหม่ พร้อมเปิดฐานการบินแห่งใหม่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผนึก การบินไทย-ไทยสมายล์บริหารฝูงบินร่วมกันชิงตลาด

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าหลังการเปิดประเทศและรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าไทยตั้งแต่เดือนพ.ค.65  ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของนกแอร์มีแนวโน้มดีขึ้น โดยในเดือนนี้รายได้ของนกแอร์ กลับมาแล้วราว 50% ของก่อนเกิดโควิด

 

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร

 

จำนวนเที่ยวบินปัจจุบันอยู่ที่ 80-100 เที่ยวบินต่อวัน จากก่อนเกิดโควิดที่นกแอร์บินอยู่140-160 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งนกแอร์กลับมาบินในประเทศครอบคลุมทุกเส้นทางแล้ว เหลือเส้นทางบินระหว่างประเทศที่เตรียมทยอยจะกลับมาเปิดให้บริการเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่เปิดให้บริการอยู่ในเส้นทาง ย่างกุ้ง ,โฮจิมินห์ซิตี้

การเริ่มฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการเปิดประเทศช้ากว่าที่เราคาดไว้  ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือเรื่องเกี่ยวกับการลดค่าธรรมเนียมต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ก็ทำให้นกแอร์มีกระแสเงินสดในมือเพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจได้

 

ดังนั้นแผนการปรับโครงสร้างทางการเงิน นกแอร์ จึงไม่จำเป็นต้องกู้เงิน 280 ล้านบาทมาใช้ในปีนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่จะยังคงเดินหน้าเพิ่มทุนหรือกู้เงินอีก 600 ล้านบาทในปี2566 และเพิ่มทุน 4 พันล้านบาทตามแผนที่วางไว้อยู่

 

“นกแอร์”เดินแผนเพิ่มทุน 4 พันล้าน เพิ่มฮับบินใหม่ “สนามบินสุวรรณภูมิ”

 

เนื่องจากนกแอร์มีแผนจะเพิ่มเครื่องบินต่อเนื่องในช่วง 5 ปีนี้ และนำเงินไปชำระหนี้  ซึ่งการเพิ่มทุนทำได้หลายวิธีรวมถึงการหาผู้ร่วมทุน โดยที่เรายังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะต้องการให้นกแอร์เป็นสายการบินของคนไทย  โดยในช่วงปลายปีนี้นกแอร์ ได้เช่าเครื่องบินโบอิ้ง737-800 เข้ามาเพิ่มอีก 6 ลำ เพื่อมาให้บริการในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า  ส่งผลให้ฝูงบินของนกแอร์ในปีนี้จะอยู่ที่ 23 ลำ จากปัจจุบันมีอยู่ 17 ลำ

ทั้งนี้เครื่องบินทั้ง 6 ลำ จะนำมาใช้ทดแทนเครื่องบินเก่า ที่นกแอร์จะนำเครื่องบิน Q400 ออกจากฝูงบิน 5 ลำ เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการซ่อมบำรุง  คงเหลือเครื่องรุ่นนี้ไว้เพียง 3 ลำ  เพื่อนำมาใช้ในเส้นทางบินสู่เบตง และเส้นทางบินข้ามภาคต่างๆ ซึ่งเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ที่จะนำเข้ามานี้ จะจุได้ 189 ที่นั่ง เพื่อจะนำมาใช้เพิ่มเที่ยวบินในประเทศ อาทิ บุรีรัมย์ พิษณุโลก ชุมพร ระนอง รวมถึงเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินระหว่างประเทศ อย่าง ย่างกุ้ง โฮจิมินห์ซิตี้ มาบินทุกวัน

 

นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปิดจุดบินใหม่เส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งกำลังพิจารณาหัวเมืองใหญ่ของอินเดีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ส่วนจีนยังต้องรอให้เปิดประเทศก่อนจึงจะกลับไปบินได้ รวมไปถึงนกแอร์ยังจะโฟกัสการเปิดเส้นทางบินข้ามภาคด้วย ซึ่งนอกจากภูเก็ต-อุบลราชธานี ที่เปิดให้บริการอยู่แล้วเดิม นกแอร์ ก็จะเปิดจุดบินใหม่เพิ่มเติมในเส้นทางเชียงใหม่-นครราชสีมา ในวันที่ 2 ส.ค.นี้ และเตรียมจะเปิดเส้นทางบินเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน

 

รวมไปถึงนกแอร์ ยังเตรียมจะเพิ่มฐานปฏิบัติการบิน ไปสู่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย เพิ่มเติมจากที่ให้บริการอยู่ที่สนามบินดอนเมือง โดยเฟสแรก จะเปิดเที่ยวบินในประเทศในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะเป็นเส้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังเชียงใหม่ ,ภูเก็ต,สกลนคร, อุดรธานี,อุบลราชธานี เป็นต้น ซึ่งการไปเปิดให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ นกแอร์จะมีโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศหรือคาร์โก้ ได้เพิ่มขึ้น

 

อีกทั้งยังสามารถรองรับการขายตั๋วแบบอินเตอร์ไลน์กับสายการบินระหว่างประเทศที่ทำการบินประจำเข้ามายังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อใช้บริการนกแอร์บินในประเทศได้ และที่สำคัญคือผู้บริหารแผนฟื้นฟูของนกแอร์และการบินไทย ได้หารือร่วมกันแล้ว จะมีการบริหารแผนบินและฝูงบินระหว่างนกแอร์ การบินไทย และไทยสมายล์ ที่ส่งเสริมกัน เพื่อสร้างโอกาสจากการดำเนินธุรกิจได้ร่วมกัน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

 

รวมไปถึงนกแอร์จะเตรียมจะเปิดให้บริการเที่ยวบินพิเศษ ให้เหล่าทาส พา หมา-แมว เดินทางขึ้นเครื่องบิน พร้อมกับเจ้าของ หรือ PetOnboard ในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งได้รับความสนใจมาก โดยจะเปิด 6 เที่ยวบินแรกก่อน ในเส้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยัง เชียงใหม่ และสนามบินสุวรรณภูมิ-ภูเก็ต

 

“นกแอร์ ได้วางตำแหน่งของสายการบินเป็นพรีเมี่ยมแอร์ไลน์ ปี2565 คาดว่าจะผู้โดยสารราว 4 ล้านคน จากก่อนเกิดโควิดที่มีผู้โดยสาร 8.5 ล้านคน และมองว่าในปี2566 สายการบินน่าจะสามารถกลับมาทำกำไรจากการดำเนินธุรกิจได้”

 

ขณะเดียวกันนกแอร์ได้เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ได้มากกว่า 90%  และไม่มีคดีข้อพิพาทใดๆแล้ว รวมถึงการผ่อนจ่ายชำระหนี้ต่างๆตามแต่ละกลุ่ม โดยได้ชำระหนี้ไปแล้วให้กับเจ้าหนี้ตั๋วเครื่องบิน เจ้าหนี้ MRO  เจ้าหนี้อะไหล่เครื่องบิน เจ้าหนี้ค่าเช่าต่างๆก็ทยอยผ่อนจ่ายมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี63 และไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ใดๆ มั่นใจ 5 ปีออกจากแผนฟื้นฟูตามที่วางไว้

 

“ในการยื่นฟื้นฟูกิจการมีเจ้าหนี้รวม 173 ราย ใน 16 กลุ่มเจ้าหนี้ ยื่นทวงหนี้นกแอร์ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมหนี้ในอนาคตมาด้วย ขณะที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เคาะออกมาแล้วว่าเรามีหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิโหวตอยู่ที่ 5,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีเจ้าหนี้บางส่วนยังไม่สามารถตกลงกับบริษัทฯ ได้ และหนี้ในจำนวนนี้กว่า 2,700 ล้านบาท เป็นเจ้าหนี้เงินกู้จากผู้ถือหุ้นของนกแอร์ ที่จะได้รับการชำระหนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือได้รับคืนในช่วงท้ายๆของการชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้น” นายวุฒิภูมิ กล่าวทิ้งท้าย