เปิดยุทธศาสตร์ NRF มุ่งเป้า Clean food tech ปฏิวัติตลาดเสริมอาหารไทย

09 ก.ค. 2565 | 06:15 น.

NRF ลุยขยายพอร์ตธุรกิจเดินหน้าสู่ clean food tech company พร้อมปฏิวัติตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไทย จับมือสตาร์ทอัพบุกตลาดอีคอมเมิร์ซ เฟ้นหา Top Brand food supplement บน Amazon ตีตลาดในไทยอย่างน้อย 10 แบรนด์ใน 3 ปี ก่อนต่อยอดผลิตเองในประเทศ

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อบนสินค้า community แล้ว แต่ในระยะยาวไทยจะต้องอาศัยปัญหาเหล่านี้มาสร้างอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่สำหรับ NRF ยังไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากบริษัททำผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบจริงๆประมาณ 20% packaging 30% ส่วนที่เหลือจะเป็นต้นทุนภายใน

              

เพราะฉะนั้นเงินเฟ้อบนอาหารเองมีผลกระทบเป็นตัวเลขหลักเดียว ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบเองมีเพียงบางตัวที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น NRF ก็ปรับราคาขึ้นตามตลาด ข้อดีคือในอดีตการขอขึ้นราคากับลูกค้ายากมาก แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนเข้าใจแล้วก็ยอมขึ้นราคาได้จึงไม่ค่อยมีผลได้เท่าไร

แดน ปฐมวาณิชย์               

ทั้งนี้ NRF วาง positioning ตัวเองในการเป็น “clean food tech company” มุ่งเน้นที่จะเป็นผู้ผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดีกับสิ่งแวดล้อมและต่อสู้กับโลกร้อน โดยมีผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มแบ่งเป็น เซ็กเม้นท์แรก คือกลุ่มซอส เครื่องปรุงรสสำเร็จรูป เซ็กเม้นท์ 2 คือ Plant-based Food หรืออาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาบริษัทได้ เปิดบริษัท “เอ็นอาร์พีที”ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (อินโนบิก) และบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด

 

โดย Plant-based Food จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. โรงงาน Plant- based ซึ่งกำลังก่อสร้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ 2. เปิด Shop Plant-based ภายใต้ร้าน “alt. Eatery” เพราะเชื่อว่าคนสามารถเข้ามากินอาหารอร่อย ราคาไม่แพง เข้าถึงได้ โดยไม่ต้องฮาร์ดเซลล์ว่าเป็น Plant-based ลูกค้ากินได้ โดยไม่ต้องเลือกว่าจะกินเพราะลดโลกร้อน หรือจะกินเพราะลดการฆ่าสัตว์

 

เซ็กเม้นท์ 3 คือ ธุรกิจ e-commerce ปัญหาของบริษัทส่งออกเกือบทุกบริษัทมีปัญหาเดียวกันคือการเข้าถึงลูกค้าโดยตรงไม่ได้ ทุกคนมีดิสทริบิวเตอร์ มีอิมพอร์ตเตอร์ ในประเทศต่างๆ เพราะฉะนั้นโจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรที่จะลงไปถึงลูกค้าโดยตรงได้ เราเลยเข้าไปลงทุนในเซ็กเม้นท์ของอีคอมเมิร์ซผ่านการเข้าไปลงทุนร่วมกับสตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วมากในอเมริกา

เปิดยุทธศาสตร์ NRF มุ่งเป้า Clean food tech ปฏิวัติตลาดเสริมอาหารไทย

สิ่งที่เขาทำน่าสนใจมากคือเขาซื้อสินค้าท็อปแบรนด์บน amazon แต่ละแบรนด์ที่จะซื้อแล้วเข้าไป เทคโอเวอร์ 100% เป็นแบรนด์ที่เกิดขึ้นจากความต้องการของตลาดที่แท้จริง ก่อนที่เราจะเข้ามาทำธุรกิจนี้เราวางแผนตั้งแต่แรกว่าสินค้าที่เรามีแต่ละแบรนด์น่าสนใจมากแล้วเมืองไทยไม่มี ที่สำคัญสินค้าที่เราจะนำเข้ามาคนไทยไม่สามารถสั่งซื้อบนเพจของ amazon ได้เพราะไม่มีอย.ไทยรองรับ แต่ยังมีคนที่หิ้วและนำเข้ามาขายในไทย ทำให้เรามั่นใจว่ามันมีดีมานด์อยู่แล้วและตอบโจทย์สังคมสูงอายุ”

 

ผู้บริหารกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจและเป็น aging society ซึ่งประเทศไทยเองตอนนี้กำลังเข้าสู่สังคม aging society หาก NRF สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ทางอเมริกามีมานานแล้วมาให้ใช้ได้ก็น่าจะตอบสนองความต้องการของตลาดได้ โดยสินค้าที่จะนำเข้ามาอยู่ในแคทธิกอรี่ของ food supplement ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก super food และเป็นสินค้าพื้นฐานทางการแพทย์ที่มีการวิจัยที่ได้รับการยอมรับ

 

ทั้งนี้ ตลาดวิตามินและเสริมอาหารในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 25,269 ล้านบาท เติบโต 8% ขณะเดียวกัน NRF ตั้งเป้าที่จะเป็น “ผู้ปฏิวัติ” ของตลาด เบื้องต้นบริษัทวางแผนการทำธุรกิจเป็น 2 เฟส คือเฟสแรก นำเข้าผลิตภัณฑ์ food supplement เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ของพาร์ทเนอร์อย่าง “WINMED” ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ ในช่วงแรกจะประเดิมตลาดด้วย food supplement 10 รายการ จาก 2 แบรนด์ ได้แก่ Wellpath และ Prime Labs และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเข้าซื้อเพิ่มอีก 10 แบรนด์

เปิดยุทธศาสตร์ NRF มุ่งเป้า Clean food tech ปฏิวัติตลาดเสริมอาหารไทย               

“ในช่วงแรกเราจะนำเข้า 2 แบรนด์ซึ่งรวมๆแล้วมีกว่า 10 SKU แต่เราคงเลือกครึ่งหนึ่งมาเปิดตัวก่อน เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับทาง อย. ด้วย เราต้องดูไทม์มิ่งว่าอย.จะอนุมัติให้เรานำเข้ามาเมื่อไร และจะต้องปรับแก้ในส่วนของแพคเกจจิ้งหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายประเทศไทย เบื้องต้นจะทดลองทำตลาดในไตรมาส 4 ของปีนี้ ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไตรมาส 1 ปีหน้า”

              

ในส่วนของเฟส 2 บริษัทตั้งเป้าจะผลิต food supplement ในประเทศไทยทั้งแบรนด์ที่ปัจจุบันนำเข้ามาจำหน่ายแล้วและแบรนด์ที่จะเจรจานำเข้าเพิ่มเติมในอนาคต โดยในส่วนของการผลิตจะเป็นลักษณะจ้างบริษัทผลิตยาในประเทศไทยผลิต ซึ่งตอนนี้มีการพูดคุยไปแล้ว 2 โรงงาน คาดว่าจะจบภายใน 2-3 เดือนนี้

              

“สุดท้ายแล้วเราไม่ได้อยากนำเข้า เราต้องการผลิตในเมืองไทย เพราะรู้แล้วว่าสินค้าบางตัวติดที่อย.ในการยื่นขออนุญาตซึ่งใช้เวลานาน ดังนั้นวิธีแก้คือผลิตในเมืองไทยโดยใช้สูตรเดียวกันและนำอินกรีเดียน บางอย่างเข้ามา โดยยังคงเป็นแบรนด์ของอเมริกาเช่นเดิม ซึ่งต้นทุนน่าจะเท่าเดิมและขายผ่านช่องทางวินเมดในราคาที่เข้าถึงได้ ตอนนี้ amazon กินค่า GP 40% การตั้งราคาถ้าไม่เกิน 60% ไปไม่รอด เพราะฉะนั้นสินค้าทุกตัวราคาขายจะเกิน 50% ของ GPอยู่แล้ว

เปิดยุทธศาสตร์ NRF มุ่งเป้า Clean food tech ปฏิวัติตลาดเสริมอาหารไทย               

ข้อดีคือการที่เราจะนำสินค้าซึ่งมีตลาดที่ดีอยู่แล้วในเมืองนอกมาขายที่ในเมืองไทยเราสามารถขายให้ถูกลงหรือตั้งราคาเท่าเดิมก็ได้เพราะค่า GP 40% จะหายไป เพราะเราเข้าใจว่า key success ของสินค้านี้คือ 1. product 2. price และ 3. Convenience หรือความสะดวก ดังนั้นกลยุทธ์การขายในเมืองไทยจะไม่เหมือนเมืองนอก เพราะแทนที่จะซื้อเป็นรายเดือนหรือรายปี คนไทยจะชอบซื้อแบบรายสัปดาห์หรือรายวันด้วยซ้ำเพราะจ่ายง่ายใช้เงินง่าย”

              

อย่างไรก็ตามธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจากสัญญาณต่างๆ ที่ส่งมาไม่ว่าจะเป็น การที่บริษัทที่ NRF เข้าไปซื้อก็ต่อรองง่ายขึ้น รวมไปถึง สถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายและกลายเป็นโรคประจำถิ่น และการที่ผู้คนเริ่มหันมาออกกำลังกายและบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆนอกจากโปรตีนและวิตามินซีมากขึ้นเพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสอย่างมาก คาดว่าใน 1-2 ปีข้างหน้าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องกินสัดส่วน 30% ของรายได้และผลักดันการเติบโตของ NRFได้ 10-20% ต่อปี

 

หน้าที่ 15  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,798 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565