จิตแพทย์จี้รัฐ ออกมาตรการป้องกันกลุ่มเปราะบาง รับปลดล็อกกัญชา

06 มิ.ย. 2565 | 10:14 น.

สมาคมจิตแพทย์ห่วงผลกระทบปลดล็อกกัญชา ต่อกลุ่มเปราะบางอย่าง เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ จี้รัฐออกมาตรการ อย่างเป็นรูปธรรม ก่อนปลูกอย่างเสรี เหตุเด็กและเยาวชน มีโอกาสเสพติดมากกว่าผู้ใหญ่

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยทำหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำมาตรการป้องกันกลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือไปจากที่มีในขณะนี้ ก่อนการปลูกกัญชาอย่างเสรี เพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบางอย่าง เด็ก เยาวชน และสตรีมีครรภ์ เพราะ

 

  1. เด็กและเยาวชนมีโอกาสเสพติดกัญชามากกว่าผู้ใหญ่
  2. กัญชาส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา การคิดแบบมีเหตุผล และการยับยั้งชั่งใจทั้งขณะเสพ และหลังเสพ และต่อลูกในครรภ์ของมารดาที่ใช้
  3. การเสพติดกัญชาส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น
  4. กัญชาเป็นเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคจิต และจิตเภทได้

 

ทั้งนี้เพราะ ขณะที่มีการประชาสัมพันธ์การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยคาดหวังประโยชน์ 3 เรื่อง คือ

  1. เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
  2. ให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
  3. เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง

 

มีผู้ให้ความสนใจอยากทดลองปลูกและทดลองใช้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การประชาสัมพันธ์และความสนใจจะมุ่งเน้นประเด็นประโยชน์ โดยขาดการให้ข้อมูลข้อควรระวัง หรือ วิธีการที่จะใช้อย่างปลอดภัย อีกทั้งการยังขาดมาตรการในการป้องกันกลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยมีความห่วงใย และอยากเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างการจำกัดการเข้าถึงกัญชาของกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ เพราะในฐานะที่จิตแพทย์เป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ได้พบ ตรวจ และรักษาผู้ที่มีอาการทางจิตจากการใช้กัญชา ทั้งที่สามารถรักษาให้หายและไม่หายจากการใช้กัญชาเป็นประจำ เป็นจำนวนที่มาก ตั้งแต่กัญชายังอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษและได้เห็นผลในด้านลบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจากการใช้กัญชาต่อผู้ที่ใช้และครอบครัว

 

ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ควรมีคำแนะนำที่ชัดเจนว่า ส่วนไหนของกัญชาควรและไม่ควรใช้  แม้ว่าการปลดเสรีการปลูกโดยมุ่งหวังเพื่อพัฒนาส่วนต่างๆ ของต้นกัญชามาใช้ในการแพทย์สำหรับบางโรค และเพื่อการเกษตรในเชิงพาณิชย์อาจเป็นประโยชน์ แต่เพราะว่า ช่อและดอกของต้นกัญชานั้นมีสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THCในระดับที่สูง

 

สารนี้นอกจากมีฤทธิ์ที่ทำให้เสพติดได้ ยังสามารถก่อให้เกิดอาการทางจิต เช่น อาการหลอน ระแวง และแม้ว่า อาการเหล่านี้ อาจจะเป็นอยู่ไม่นานในบางคน แต่ก็สามารถกระตุ้นให้บางคนมีอาการดังกล่าวต่อเนื่องไม่หายจนกลายเป็นโรคจิต และโรคจิตเภทได้ โดยเฉพาะในเด็ก เยาวชน และผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางจิต

 

ขณะที่การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ ควรเริ่มจากการใช้กัญชาในทางการแพทย์  โดยมีการวิจัยและพัฒนาไปเรื่อยๆ ควบคู่กับไปกับการดูแลการปลูกและการผลิตที่มีระบบควบคุมคุณภาพและควบคุมการเข้าถึงโดยมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบถึงผลข้างเคียงของการใช้เพื่อให้ทราบถึงขนาดของปัญหาที่อาจจะพบได้ เช่น โอกาสการเกิดโรคทางจิตเวช การใช้บริการห้องฉุกเฉิน อุบัติเหตุทางถนน ดังเช่นในประเทศที่มีการอนุญาตให้ใช้ไปก่อนแล้ว ก่อนที่จะพัฒนาใช้ในด้านอื่นๆ ต่อไป

 

ขณะเดียวกันการส่งเสริมให้ปลูกกัญชาก่อนจึงให้ความรู้ตามหลังจะก่อให้เกิดปัญหาการใช้กัญชาที่เป็นอันตรายได้ ก่อนที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างกว้างขวาง รัฐควรมีการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปอย่างรอบด้านแบบทั่วถึงให้รู้จักถึงประโยชน์ โทษ และข้อควรระวัง เพื่อให้การปลูกได้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของการปลดเสรีและลดโอกาสที่จะเกิดโทษหรือผลกระทบด้านลบต่อประชาชนและสังคมให้น้อยที่สุด