DKSH ปรับยุทธศาสตร์ คว้าไลเซนส์ผลิตแบรนด์ดัง

03 มิถุนายน 2565

DKSH ปรับยุทธศาสตร์กลุ่มธุรกิจแฟชั่น&ไลฟ์สไตล์ หันผลิตไลเซนส์แบรนด์ดัง สร้างโอกาสทำเงิน ประเดิมคว้าสิทธิ์ผลิต “Lee Cooper” ขายในไทย-กัมพูชา พร้อมเดินหน้าบุกตลาดเดนิม 1.5 หมื่นล้าน หวังโกยแชร์ติด Top 3 หลังหมดลิขสิทธิ์ “ลีวายส์” ที่ทำมา 30 ปี

บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทด้านการตลาดยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่ดำเนินธุรกิจวางยุทธศาสตร์ด้านการตลาด กระจายสินค้า รวมถึงบริการหลังการขายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สินค้าลักชัวรี แฟชั่น&ไลฟ์สไตล์ รวมถึงเครื่องสำอาง ซึ่งล้วนเป็นแบรนด์ดังระดับโลก รวมถึง “ลีวายส์” แบรนด์เดนิมอันดับ 1 ที่ถือลิขสิทธิ์มานานถึง 30 ปีและต้องยุติลงเมื่อสัญญาหมดลง ก่อนจะกลับมาบุกตลาดเดนิมพร้อมขยับตัวครั้งใหญ่ กับบทบาท “ผู้ผลิต” เป็นครั้งแรก เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เพิ่มขึ้น

              

นายปีเตอร์ ฮอร์นบี รองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังหมดลิขสิทธิ์สัญญากับแบรนด์ลีวายส์ ซึ่งบริษัทเป็นผู้ทำตลาด ขายและกระจายสินค้ามานานถึง 30 ปีและครองอันดับ 1 ในตลาดเดนิมที่มีมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทต้องมองหาแบรนด์ใหม่ และล่าสุดได้ไลเซนส์แบรนด์ “Lee Cooper” และ “Mossimo” จาก Iconix Brand Group, Inc เข้ามาผลิตและทำตลาดในไทยและกัมพูชาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ปีเตอร์ ฮอร์นบี

โดย Lee Cooper เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์เดนิมสัญชาติอังกฤษเกิดขึ้นมากว่า 115 ปี มีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลกรวมถึงเอเชีย ซึ่งการทำตลาดครั้งนี้บริษัทมองเห็นโอกาสต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการเปิดกว้างให้บริษัท สามารถนำเสนอดีไซน์ การทำตลาด รวมถึงกิจกรรมต่างๆที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของลูกค้าคนไทย จะเน้นการ ภายใต้กลยุทธ์ Localization ทำให้บริษัทสามารถนำประสบการณ์ที่มีอยู่ ฐานข้อมูลลูกค้า รวมถึงจุดแข็งต่างๆ เข้ามาใช้ได้อย่างเต็มที่

 

“จุดแข็งหลักคือการทำตลาดแบบออมนิ แชนแนล ซึ่งบริษัทเริ่มทำและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจากการสร้างตลาดให้กับลีวายส์ โดยการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าจากออนไลน์ พร้อมกับมาทดลอง สวมใส่สินค้าที่ช้อป หรือจะเลือกชมสินค้าที่จุดขาย และซื้อในช่องทางออนไลน์ได้เช่นกัน”

ดีเคเอสเอช

นอกจากนี้บริษัทยังนำจุดแข็งของ DKSH เข้ามาใช้อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนวัตกรรม การให้บริการเฉพาะรายบุคคล รวมถึงบริการหลังการขาย ด้วยระบบ CRM Program ที่มีอยู่ เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า

 

“หลังได้ไลเซนส์และทำตลาดให้กับแบรนด์ Lee Cooper มาตั้งแต่ต้นปี พบว่าการตอบรับดีมาก เกินที่คาดหมายไว้ ด้วยจุดเด่นของดีไซน์ที่เหมาะกับคนไทย และเนื้อผ้าที่เหมาะกับสภาพอากาศเมืองร้อน และราคาที่สมเหตุ สมผล รวมถึงศักยภาพของตลาดเมืองไทยเอง ทำให้ยอดขาย Lee Cooper มีการเติบโตเฉลี่ย 35% ต่อเดือน”

 

ด้านกลยุทธ์การทำตลาด “Lee Cooper” บริษัทจะเน้นการออกคอลเลคชั่นใหม่ต่อเนื่อง ทั้งการทำ Collaboration Marketing จับมือกับแบรนด์สินค้าไทยชื่อดัง พัฒนาคอลเลคชั่นใหม่ร่วมกัน รวมถึงการจับมือกับศิลปินไทยในการผลิตคอลเลคชั่นใหม่ ที่ไม่เหมือนใคร และการจับมือกับคาร์แรกเตอร์ โกลบอลแบรนด์ ในการดีไซน์คอลเลคชั่นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีแผนนำเข้าคอลเลคชั่นพรีเมี่ยม ที่ผลิตจากผ้าพิเศษ เพื่อขยายฐานในตลาดระดับบนด้วย

 

อีกกลยุทธ์คือการสร้างฐานลูกค้าผ่าน CRM Program โดยเริ่มเปิดรับสมาชิก Lee Cooper ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสมาชิกแล้วกว่า 3,000 ราย ขณะที่ Mossimo เริ่มเปิดรับสมาชิกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสมาชิกแล้วกว่า 1,000 ราย

Lee Cooper

ขณะที่ช่องทางการขาย บริษัทมีแผนขยายจุดขายเพิ่มขึ้นอีกราว 10 จุด จากปัจจุบันที่มีอยู่ 71 แห่ง ทั้งในห้างสรรพสินค้าและสแตนด์อะโลน เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้า Millennial, Gen Z และ Gen X ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

 

ขณะเดียวกันก็เน้นการจัดกิจกรรมในกลุ่มลูกค้า Gen Z เพื่อสร้างการเข้าถึงแบรนด์ Mossimo ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นสตรีท ด้วยโดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายทั้ง 2 แบรนด์รวมกันราว 3,000 ล้านบาท เพื่อให้ทดแทนกับยอดขายลีวายส์ที่หายไปหลังหมดสัญญาไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าตลาดแฟชั่นมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี เมื่อนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยเองมีความหยืดหยุ่นสูง ฟื้นตัวเร็ว เชื่อว่าหลังจากนี้อีก 6 เดือนหรือต้นปี 2566 ทุกอย่างจะกลับมาดี ขณะที่แบรนด์ที่เข้าถึงง่าย และมีการกระจายในตลาดแมส จะมีโอกาสมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยเองเป็นตลาดที่มีศักยภาพ น่าสนใจ และดึงดูดลูกค้าได้จากแบรนด์ต่างๆ ขณะที่บริษัทเองมีแผนนำเข้าแบรนด์ต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับตลาดในอนาคต

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,788 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2565