กรมวิชาการเกษตรแนะมะม่วงใกล้เก็บเกี่ยวเฝ้าระวังโรคและแมลงศัตรู

13 พ.ค. 2559 | 04:59 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ระยะนี้เข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเฝ้าระวังช่วงที่ร้อนจัด สลับฝนตก และลมกระโชกแรง ในระยะมะม่วงผลใหญ่ใกล้เก็บเกี่ยว ให้สังเกตการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ มักพบแมลงวันผลไม้วางไข่ในผลมะม่วง พบรอยช้ำใต้ผิวเปลือก หนอนจะฟักจากไข่และอาศัยชอนไชอยู่ในผล เมื่อหนอนโตขึ้นจะเจาะรูออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน และเป็นแมลงวันผลไม้ตัวเต็มวัย ส่วนผลที่หนอนเจาะเป็นรูจะมีน้ำไหลเยิ้ม ผลเละ เน่าเสีย และร่วงหล่น ผลที่ถูกทำลายมักมีโรคและแมลงชนิดอื่นๆ เข้าทำลายซ้ำ

เกษตรกรควรหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เก็บผลที่เน่าเสียออกจากแปลงไปทำลายนอกแปลงปลูก ห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาลหรือถุงกระดาษที่ภายในเคลือบด้วยกระดาษคาร์บอน เมื่อมะม่วงเริ่มติดผล 60 วัน และใช้กับดักที่ภายในแขวนก้อนสำลีชุบสารเมทธิลยูจินอลผสมสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 57% อีซี ในอัตรา 4 :1 นำไปแขวนไว้ในทรงพุ่มที่ระดับความสูง 1-1.5 เมตร จำนวน 1 กับดักต่อพื้นที่ 1 ไร่ ให้สังเกตปริมาณแมลงวันผลไม้ในกับดักทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นตัวชี้วัดปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลงปลูก

หากระบาดมาก ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 57% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน และพ่นด้วยเหยื่อพิษที่ประกอบด้วยยีสต์โปรตีน อัตรา 200 มิลลิลิตรผสมกับสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 57% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรในน้ำ 5 ลิตร โดยพ่นในเวลาเช้าตรู่ก่อนเริ่มทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 เดือน พ่นแบบเป็นจุด ต้นละ 1-4 จุด ทุก 7 วัน

ส่วน โรคแอนแทรคโนส ใบอ่อน เกิดแผลสีน้ำตาลขนาดไม่แน่นอน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม เมื่อแผลขยายติดกันจะมีอาการไหม้ บิดเบี้ยว ต้นอ่อน กิ่งอ่อน ก้านช่อดอก พบจุดแผลหรือขีดขนาดเล็กสีน้ำตาลแดงประปรายขยายออกตามความยาว แผลบนต้นหรือกิ่งที่อ่อนมากๆ จะลุกลามจนกิ่งแห้ง เน่าดำทั้งต้น บนก้านช่อดอกจุดแผลขยายเชื่อมติดกัน ก้านช่อดำ กลีบดอกและผลอ่อนที่ถูกทำลายเป็นสีดำ และหลุดร่วง ผลแก่และผลสุกหลังเก็บเกี่ยว เกิดจุดแผลสีน้ำตาลดำ แผลขนาดไม่แน่นอนยุบตัวลึกลงไปในเนื้อผล ลุกลามรวดเร็ว บริเวณกลางแผลอาจพบเมือกสีส้มได้

สำหรับในแหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรคแอนแทรคโนสเป็นประจำ ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแคปแทน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สลับกับสารอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 5-10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้พ่นเป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่ช่วงมะม่วงแทงยอดอ่อน เริ่มออกดอก หลังติดผลใหม่ๆ จนถึงระยะห่อผล และหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้มีขนาดเหมาะสมกับระยะปลูก เพื่อลดความชื้น อากาศถ่ายเทสะดวก แดดส่องถึง และหมั่นทำความสะอาดกำจัดวัชพืชโคนต้น เก็บกวาดกิ่ง ใบ ผลที่เป็นโรคใต้ต้นออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ