สมาคมคราฟท์เบียร์ชี้ ธุรกิจกลางคืนไม่คัมแบ็กเร็วตามรัฐคาดหวัง

26 พ.ค. 2565 | 09:09 น.

นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ชี้ผ่อนคลายมาตรการเปิดสถานบริการ สถานบันเทิง หรือสถานประกอบการ 1 มิถุนายนไม่ใช่ตัวการันตีว่าธุรกิจกลางคืนจะคัมแบ็ก ผู้ประกอบการยังแบกต้นทุน-หนี้ ร้องรัฐบาลช่วยปลดล็อคเงื่อนไขเวลาซื้อขายแอลกอฮอลล์-ช่องทางขายออนไลน์

จากประกาศผ่อนคลายมาตรการอนุญาตให้ สถานบริการ สถานบันเทิง หรือสถานประกอบการคล้ายกัน กลับมาเปิดให้บริการเฉพาะในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) และพื้นที่เฝ้าระวัง (พื้นที่สีเขียว)เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเป็นสัญญาณที่ดีกับธุรกิจกลางคืนและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง 

 

แต่ในมุมของผู้ประกอบการกลับมองว่าการปลดล็อคธุรกิจกลางคืนครั้งนี้เป็นเพียงการทำให้บรรยากาศดีขึ้นเท่านั้น เพราะผู้ประกอบการยังคงเจอกับปัจจัยลบรอบด้าน

 

 

นายอาชิระวัสส์  วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ว่านโยบายนี้หลักจริงๆคือผ่อนคลายมาตราการสถานบริการประเภท 1 ผับบาร์ดิสโก้เทค 2 อาบอบนวด 3 cocktail lounge  ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกบล็อกห้ามเปิดบริการ   แต่ที่ผ่านมาสถานประกอบการเหล่านี้ทั้ง RCA หรือคาราโอเกะได้ปรับตัวเปลี่ยนเป็น restaurant ไปหมดแล้ว 

 

ดังนั้นในแง่ของตลาดเริ่มกลับมาเปิดบริการได้สักพักหนึ่งแล้ว แต่การปลดล็อคครั้งนี้ตัวที่ถูกเพิ่มเข้ามาคือ “อาบอบนวด” ซึ่งมีกฏออกมาควบคุมว่าต้องใส่หน้ากากอนามัยในระหว่างใช้บริการ แต่ในความเป็นจริงยังไม่รู้ว่าจะสามารถทำได้หรือไหมและจะมีการตรวจสอบและบังคับใช้ข้อกฎหมายอย่างไร

 

แต่การปลดล็อคข้อดีก็คือ ทำให้นักท่องเที่ยวสบายใจขึ้นที่จะมาเมืองไทย แต่ประเด็นคือตอนนี้นักท่องเที่ยวที่อยากมาเมืองไทยติดในเรื่องของไทยแลนด์พาส ทำให้นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจหลักที่จะมาใช้บริการกินดื่มนี้หายไปเพราะกระบวนการเหล่านี้เยอะ

 

ในแง่ของคนไทยการบริโภคก็มีผลกระทบบ้าง การปลดล็อคกฏเกณฑ์ต่างๆก็ทำให้คนสบายใจที่จะออกไปเที่ยว ไปกิน ไปดื่มมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกำลังซื้อไม่ได้มีเยอะเหมือนช่วงก่อนโควิด แต่บรรยากาศการจับจ่ายในภาคการกินดื่มน่าจะดีในเกรด Aหรือ เกรดB เพราะกลุ่มนั้นมีกำลังซื้ออยู่แล้ว

 

 

แต่บางส่วนก็อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเช่นคริปโตพัง ตลาดหุ้นพัง ก็เป็นอีกตัวนึงที่ทำให้กำลังซื้อหายไป เพราะฉะนั้นการแค่ปลดล็อคมันไม่ใช่ตัวการันตีว่าตลาดมันจะกลับคืนมา มันแค่ทำให้บรรยากาศดีขึ้น แต่ในแง่ของกำลังซื้อหรือคนที่จะมีเงินมาใช้จ่ายหายไปเยอะ

 

และอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าห่วงคือ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่หน้าฝน โรงเรียนเปิดเทอมและเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นเมนหลักที่ทำลายกำลังซื้อไปอีกตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องบอกว่า mood and tone ดีขึ้นแต่ไม่ใช่ตัว drive ตลาดอีกต่อไป แต่ตัวที่จะ drive ตลาดน่าจะเป็นตัวอื่น ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของกำลังซื้อ เงินเฟ้อที่อยู่ในมือประชาชนมากกว่า และที่สำคัญอย่าลืมว่าเบียร์ เหล้า มีการปรับขึ้นราคาเพราะฉะนั้นการปลดล็อคครั้งนี้ไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้คนบริโภคเยอะขึ้น

 

นอกจากเบียร์ เหล้า ขึ้นราคาแล้วร้านค้าที่กลับมาเปิดใหม่ก็มีต้นทุนจมสะสมอยู่นาน มันก็ทำให้มีส่วนในการปรับราคาทั้งอาหารและเครื่องดื่มขึ้น ดังนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังจะปรับเข้าสู่ภาวะสมดุลใหม่ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าจะปรับได้แค่ไหน ในส่วนของผู้ผลิตเองตอนนี้ก็ยังระวังตัวกันอยู่เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกอย่าง ผู้นำเข้าก็จะเจอเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนตัว ค่าเฟสที่เพิ่มขึ้นอีก 3-4 เท่าและราคาสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้ามาก็สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายทุกอย่างสูงขึ้นหมด 

 

“อย่างเช่นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศปกติสินค้าจะเข้ามาถึงท่าเรือเราสามารถเคลียร์ออกมาได้เลยภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่ตอนนี้กระบวนการราชการถูกดีเลย์ออกไปกลายเป็น 3-4 สัปดาห์ทำให้ของอยู่ที่โกดังอยู่ที่ท่าเรือมีค่าAverage chargeจากสายเรือ มีค่าไม่คืนตู้ คอร์สต้นทุนมหาศาลเพิ่มขึ้นอีกมากเพราะฉะนั้นในเรื่องของซัพลาย ตอนนี้ต้นทุนสูงกระฉูด และยังต้องเจอค่าขนส่งค่าน้ำมัน

 

ที่หนักที่สุดคือกรณีที่เราส่งของไปต่างจังหวัด โลจิสติกไม่ใช่แค่ต้นทุนสูงแต่การขนส่งของถึงปลายทางโดยเรียบร้อยแย่ลงของมีความเสียหาย ของแตกหัก ซึ่งความรับผิดชอบเกิดขึ้นกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการก็ต้องแบกคร์อสเอง ต้องส่งสินค้าใหม่ให้ลูกค้าใหม่ซึ่งเบียร์แตก 1 ขวดเทียบเท่ากับกำไรของเบียร์ 4 ขวดเพราะฉะนั้นตอนนี้อุปสรรคในเรื่องของการดำเนินธุรกิจค่อนข้างสูงแล้วรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการลงมาดูแลปล่อยให้เอกชนลุยกันเอง

 

กว่าโมเมนตัมจะเข้าที่เข้าทางก็น่าจะใกล้ๆไตรมาส 4 การกลับมาของตลาดคงไม่เร็วอย่างที่รัฐบาลหวังและอีกอย่างคือนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลเองน่าหนักใจเพราะไม่มีอะไรชัดเจน กฎหมายที่ไม่ได้เปิดเต็มที่เช่นเรายังมีจำกัดเวลาการซื้อซื้อมันก็จะทำให้บั่นทอนในเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวเองเขาอั้นโควิดมา 2-3 ปี เข้ามาถึงเขาก็อยากดื่มเต็มที่อยาก enjoy แต่ก็มาเจอกฎหมายแบบนี้ไม่ผ่อนคลาย

 

และในขณะที่รัฐบาลบอกว่าต้องการเป็นดิจิตอล ต้องการไป 4.0 แต่ค้าขายเหล้าเบียร์ออนไลน์ยังทำไม่ได้ อีกตัวนึงคือเรื่องของเวนดิ้ง แมชชีน นักท่องเที่ยวมาถึงเขาก็ต้องการความสะดวกเขาไม่ต้องการซื้อเหล้าเบียร์แล้วถูกขายโก่งราคา ตอนนี้เวนดิ้งแมชชีนมีวิวัฒนาการเยอะเราสามารถใช้บัตรประชาชนเข้าไปโมดิฟราย ได้ว่าอายุเกิน 20 แล้วถึงกดซื้อได้ แต่พอห้ามมันก็เป็นตัดการลงทุนตัดความคิดสร้างสรรค์ทุกอย่างไปหมดเพราะฉะนั้นตอนนี้มันคือปัญหาในเรื่องของโครงสร้างของความคิดของราชการมากกว่า”