กัญชา-กัญชง กระหึ่ม มูลค่าตลาดพุ่ง 4 หมื่นล้าน จี้สร้างมาตรฐานดันส่งออก

27 เม.ย. 2565 | 21:00 น.

ปลดล็อกกัญชา-กัญชง เปิดทางพืชเศรษฐกิจไทยโลดแล่นเวทีโลก คาดมูลค่าตลาดพุ่ง 4 หมื่นล้านในปี 2570 เอกชนจี้รัฐทำยุทธศาสตร์กัญชากำกับดูแลมาตรฐานทุกขั้นตอนให้ได้เกณฑ์ส่งออก บิ๊กเนมแห่ระดมทุน “ณุศา ซีเอสอาร์” เปิดจองกัญชารับโทเคน ส่วน “88 แคนนาเทค” ผ่านระบบคลาวด์ ฟันดิ้ง

การปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” พ้นบัญชียาเสพติดมีผลตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2565 นี้ จะเปิดประตูให้กัญชา-กัญชงไทยออกไปโลดแล่นบนเวทีโลก เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด 1.039 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 3.53 ล้านล้านบาท) ในปี 2567 ตามรายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ภายใต้คำถาม กัญชาไทยมีความพร้อมแค่ไหน

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จัดงานสัมมนา CANNABIS WEALTH “สูตร (ลับ) ฉบับ รวยด้วย ...กัญชา” รวบรวมกูรูแวดวงกัญชา-กัญชงทุกวงการ มาแลกเปลี่ยนมุมมองแบบ 360 องศา ที่ชี้ว่า นโยบายกัญชาที่คลี่คลาย จากยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ เปิดโอกาสธุรกิจมหาศาลตลอดห่วงโซ่ เกิดการขับเคลื่อนการลงทุนรอบด้าน ทั้งการแพทย์ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง จนถึงการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้ได้คุณภาพตามข้อกำหนด และมาตรฐานต่าง ๆ ตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสู่เวทีโลก

 

จี้กำหนดมาตรฐานส่งออก

ดร.ไพศาล การถาง รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) กล่าวว่า วันนี้ไทยยังไม่มีหน่วยงาน หรือข้อกำหนดที่เป็นสาระสำคัญในการกำหนดมาตรฐาน รวมถึงแผนการขับเคลื่อนกัญชา-กัญชงไทย เพื่อนำไปสู่การนำเข้าหรือส่งออกในต่างประเทศ

สัมมนา CANNABIS WEALTH “สูตร (ลับ) ฉบับ รวยด้วย ...กัญชา”

สอดคล้องกับความเห็นของนายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด ที่กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อนคือ การร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน ทำยุทธศาสตร์กัญชา-กัญชง เพื่อกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมหน้า 15)

 

ขณะที่นายกฤษณ์ ธีรเกาศัลย์ กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด หรือ GTG กล่าวว่า เมื่อจะปลดล็อก ถ้าเป็นกัญชงขอให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก ซึ่งไทยยังปลดล็อกไม่เหมือนต่างประเทศ เช่นในยุโรปให้ใช้ดอกกัญชาที่มีค่า THC ไม่ถึง 0.2% ในการสูบเพื่อรักษาตัวเอง หรือเพื่อทางการแพทย์ได้แล้ว ในขณะที่ในไทยยังผิดกฎหมาย

 

“เห็นด้วยที่จะให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุข เปิดแซนด์บ็อกซ์กัญชง-กัญชาสันทนาการ เชื่อว่าจะช่วยดึงให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้น อาจนำร่องที่ภูเก็ตและเกาะเต่า เพราะเมื่อจะปลดล็อกก็ควรให้เข้ามาตรฐานโลก”

กฤษณ์ ธีรเกาศัลย์

นายกฤษณ์ กล่าวอีกว่าการส่งออกดอกกัญชาเพื่อใช้สูบเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยเป็นแบบที่ไม่ต้องสกัด แต่ต้องมีมาตรฐานและคุณภาพ ตั้งแต่ปลูกถึงแพ็ก หรือมาตรฐาน GACP และมาตรฐาน EU GMP ซึ่งเยอรมนีกำหนดมาตรฐานการตัดแห้ง THC ต้องมากกว่า 20% และ CBD ต้องมากกว่า 16% ซึ่งต้องปลูกเลี้ยงที่ดีกว่าในธรรมชาติ จึงจะได้มาตรฐานเพื่อส่งออก

 

“ไทยมีจุดแข็งเพราะค่าก่อสร้างถูกกว่ายุโรป 3-5 เท่า ค่าน้ำค่าไฟและค่าแรงที่ได้เปรียบมาก รวมทั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นที่อุณหภูมิและความชื้นเอื้ออำนวยในการปลูกมากกว่าต่างประเทศ”

 

ชูแพลตฟอร์มจองกัญชา

ด้านภาคเอกชนไทยเวลานี้เตรียมพร้อมกันอย่างมาก หลายบริษัทเริ่มสตาร์ทอย่างจริงจัง แม้เจอการระบาดโควิด-19 เกิดทั้งในอุตสาหกรรมกัญชาเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และผลิตภัณฑ์กัญชาต่างๆ โดยนางสาวศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท ณุศา ซีเอส อาร์ จำกัด กล่าวว่า ได้ต่อยอดจากการปลูกกัญชา จนถึงทำผลิตภัณฑ์ ได้พัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดย มายโอโซนเขาใหญ่ และเลเจนด์ สยาม พัทยา กลายเป็นศูนย์เรียนรู้กัญชาครบวงจร โดยทำงานร่วมกับทีมแพทย์ และพันธมิตร และพร้อมปรับโฉมสู่ Wellness Center

ศิริญา เทพเจริญ

พร้อมทั้งเปิดแพลตฟอร์มการลงทุนรูปแบบใหม่ “ต้นไม้มหัศจรรย์” ที่ผนึกรวมกัญชาเข้ากับนวัตกรรมทางการเงิน โดยเปิดให้ผู้สนใจและนักลงทุนรายย่อยเข้าร่วมลงทุน โดยบริษัทจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยลงทุนเบื้องต้นราคา 10,000 - 100,000 บาท รับ NUSA TOKEN เพื่อใช้ชำระสินค้าและบริการของเครือณุศาและสิทธิการเป็นสมาชิก Miracle wealth ขายยาและเวชภัณฑ์อย่างถูกกฎหมายในอนาคต และเมื่อบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะได้สิทธิซื้อหุ้น IPO ของบริษัท NUSA CSR ด้วย

 

ระดมทุนผ่านคลาวด์ ฟันดิ้ง

นายพรประสิทธิ์ สีบุญเรือง กรรมการผู้จัดการ บริษัท 88 แคนนาเทค จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทได้ลงทุนเฟสแรกไประดับหนึ่งแล้ว ในต้นเดือนพฤษภาคมนี้บริษัทจะลงทุนเฟสสอง โดยเปิดระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อย ผ่านระบบคลาวด์ ฟันดิ้ง ในรูปแบบของ NFT โดยจะเป็นการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มซึ่งได้เสนอให้กลต.พิจารณาแล้ว

 

“สำหรับรายย่อยจะเปิดให้ร่วมลงทุนได้ตั้งแต่ 3.3 หมื่นบาท จนถึงไม่เกิน 1 แสนบาท แต่ถ้าเป็นกลุ่ม Wealth Investor ไม่จำกัดวงเงินลงทุน นอกจากนี้ยังมีกองทุนฯต่างๆ รวมถึงกองทุนต่างประเทศ แสดงความสนใจเข้ามาขอข้อมูลการลงทุนเป็นจำนวนมาก”

พรประสิทธิ์ สีบุญเรือง

ทั้งนี้ 88 แคนนาเทคถือเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจกัญชา กัญชงครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชงกว่า 8,000 สายพันธุ์ มีโรงเรือนปลูกกัญชา ที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีโรงงานสกัดอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ โดยความร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทย และมีผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชา อาทิ แอคเน่ เซรั่ม ครีมคลีนซิ่ง ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด ฯลฯ ออกมาวางตลาดแล้ว

 

จับมือพันธมิตรเติบโตยั่งยืน

ขณะที่ นางสาวอุนารินทร์ กิจไพบูลทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคนนาบิซ เวย์ จำกัด กล่าวว่า บริษัททำมีธุรกิจกัญชาตั้งแต่โรงเรือนเพาะปลูก ไปจนถึงการแปรรูป โดยมีพันธมิตรช่วยต่อยอดธุรกิจ เริ่มต้นเน้นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ซอส น้ำปลาร้า เกี้ยว หลังจากนั้นค่อยขยายไปสู่ธุรกิจยา เครื่องสำอาง หรืออาหารเสริมต่อไปในอนาคต

อุนารินทร์ กิจไพบูลทวี

“ผู้สนใจอยากเข้ามาลงทุนธุรกิจนี้ ต้องศึกษาเรื่องกฎหมาย ชนิดกัญชา และมีเงินทุนมากพอควร แต่ถ้าไม่อยากลงทุนสูง อาจเป็นตัวแทนหรือซื้อแฟรนไชส์ เพื่อไปจำหน่ายต่อได้คืนทุนเร็ว เช่น ลงทุน 1 หมื่นบาทในธุรกิจเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง หรือจะส่งออก โดยมีแผนจะส่งออกในอนาคต”

 

ปี 70 มูลค่าแตะ 4 หมื่นล้าน

ด้านบมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG ซึ่งศึกษาตลาดกัญชาทางการแพทย์ในระดับโลก มานานกว่า 5 ปี ก็พร้อมเดินหน้ารุกตลาดเต็มที่ โดยแพทย์หญิงกอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล ที่ปรึกษาทางการแพทย์ บริษัท ธนบุรี คานาบิช จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจ ใช้ในกลุ่มการแพทย์ผสมผสาน หรือทางเลือก ซึ่งตลาดกัญชาทางการแพทย์ในช่วงปี 2563-2567 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ประมาณ 26% ต่อปี ในไทยมีมูลค่า 2,670 ล้านบาท คาดจะโตได้ถึง 40,395 ล้านบาท ภายในปี 2570

แพทย์หญิงกอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล

ในอนาคตบริษัทมีแผนสร้างคลินิคการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์ทางเลือกเป็น indicative Wellness Cannabis Care ในเครือโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง คือ รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง, รพ.ธนบุรี 1 และรพ.ธนบุรีบูรณา และพร้อมขยายสู่โรงพยาบาลในเครือ THG กรุ๊ปกว่า 27 สาขาทั่วประเทศ และขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ มาตรฐานทางการแพทย์ด้วย