เปิดใจ ‘อนุรุธ ว่องวานิช’ ทายาทอังกฤษตรางู กับพันธกิจบุกตลาดเอเชีย

01 เม.ย. 2565 | 22:25 น.

เปิดตำนาน 130 ปี “อังกฤษตรางู” แบรนด์ไทยผู้บุกเบิกแป้งเย็นรายแรกของโลก กับพันธกิจเดินหน้าท่ามกลางกระแสโลกเปลี่ยน สู่เป้าหมาย “Global Brand” ปักหมุดตลาดเอเชีย

เรื่องราว 130 ปีของ “อังกฤษตรางู” หนึ่งในแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี มีหลายมิติที่น่าค้นหา จากจุดเริ่มต้นกับธุรกิจห้างขายยาอังกฤษตรางูจนขยายอาณาจักรครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันอังกฤษตรางู เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่มีอายุเกิน 100 ปี ที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่จนถึงทุกวันนี้

              

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “อนุรุธ ว่องวานิช” ทายาทคนปัจจุบันที่สืบทอดธุรกิจ และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทิช ดิสเพนซารี่ คอนซูมเมอร์ จำกัด (มหาชน) ที่มาบอกเล่าเรื่องราวธุรกิจบนเส้นทาง 130 ปีจนถึงยุคปัจจุบัน

              

“อนุรุธ” เล่าว่า ภาพความสำเร็จของอังกฤษตรางูย้อนกลับไปเมื่อ 130 ปีก่อน ที่นายแพทย์โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ และดร.ปีเตอร์ กาแวน ได้ตั้งห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) โดยชั้นบนเป็นร้านหมอและชั้นล่างเป็นร้านยา ซึ่งในตอนนั้นมีสินค้าหลายประเภททั้งเครื่องสำอาง ยารักษาโรค วางจำหน่าย 36 ปีให้หลัง คุณหมอเฮย์เจ้าของห้างขายยา ต้องการเกษียณและขายหุ้นต่อให้กับหมอล้วน ว่องวานิช ด้วยเงิน 1 แสนบาท (ในสมัยนั้น) ทำให้ห้างขายยาอังกฤษตรางู ถูกเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้การบริหารของครอบครัว “ว่องวานิช”

อนุรุธ ว่องวานิช               

หลังซื้อกิจการก็เดินหน้าขยายกิจการร้านขายยาหลายสาขา ขณะเดียวกันก็รับเป็นเอเย่นต์ยาจากต่างประเทศเข้ามาขายในสาขาต่างๆของห้างขายยาอังกฤษตรางู ควบคู่ไปกับการเริ่มคิดค้นพัฒนาสูตรสินค้าต่างๆ จนเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ “แป้งเย็น” เมื่อประมาณ 90 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเดิมค้นค้นขึ้นมาเพื่อเป็นแป้งยาใช้รักษาผดผื่น คัน

 

จุดเปลี่ยนของห้างขายยาอังกฤษตรางู เกิดขึ้นเมื่อ “หมอล้วน” มองว่า การเป็นเอเย่นต์ก็เหมือนรับเลี้ยงลูกให้คนอื่นเมื่อลูกโตเขาก็เอาไป จากการมองเห็นความไม่มั่นคงทางธุรกิจนี้ หมอล้วนมองว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะผลิตสินค้าของตัวเอง จนเป็นที่มาของการทำแป้งเย็นกระป๋องและใช้โลโก้งูที่มีลูกศรปัก                      

พอมาถึงยุคดร.บุญยง ว่องวานิช (บิดา) เข้ามาสานต่อกิจการ โดยเริ่มทำโฆษณาในช่อง 4 บางขุนพรหม และเป็นโฆษณาแรกๆในประเทศไทย รวมทั้งก่อตั้งบริษัท แอล.พี.แสตนดาร์ด แลบบอราทอรี่ส์ จำกัดโรงงานผลิตเวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง เพื่อรองรับการขยายการผลิต ในช่วงแรกช่องทางการจัดจำหน่ายเริ่มขยายจากร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป

 

“อนุรุธ” เล่าอีกว่า ในยุคที่เขาเข้ามาบริหารเป็นยุคของการควบรวมกิจการด้านการจัดจำหน่ายและโรงงานผลิต

อังกฤษตรางู

“ยุคผมสินค้าตรางูก็ยังอยู่ในประเทศเราและได้รับความนิยม ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่มีแบรนด์รอยัลตี้และแม้ว่ายุคปัจจุบันเป็นยุคที่หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปแต่อากาศร้อนไม่เปลี่ยนแปลงและคุณภาพของแป้งเย็นตรางูก็ไม่เปลี่ยน ที่สำคัญคือหัวใจของบริษัทที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะแน่นอนว่าบริษัทที่อยู่มาได้ถึงร้อยปีต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลัง หัวใจสำคัญอย่างแรกคือ สูตรพิเศษของสินค้าซึ่งเรามีแน่นอนและอีกส่วนที่สำคัญก็คือคุณภาพ”

 

อีกหนึ่งความท้าทายของอังกฤษตรางูคือ ผู้บริโภคปัจุบันใช้แป้งน้อยลงเรื่อยๆ การแก้เกมคือ ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์อื่นเช่น สบู่ เจลอาบน้ำ สเปรย์อัดแก๊สและมิสต์ผ้าเย็น ฯลฯ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะยุคโควิด เริ่มมีหน้ากากอนามัยหลายประเภทและที่ขายดีมาก คือ สเปรย์พ่นคอใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ ซึ่งผู้บริหารมองเห็นเทรนด์และแนวโน้มการใช้สมุนไพรที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอังกฤษตรางูจะมีสินค้าตัวใหม่ๆ ที่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาดในปีนี้ เช่นฟ้าทะลายโจรจ้า

 

ในส่วนวิตามินอาหารเสริมเป็นสินค้าที่มียอดขายดีมากในตลาดโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะอาหารเสริมที่ช่วยในเรื่องของความจำ เพราะตอนนี้ไทยกำลังมุ่งสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเป็นที่คุ้นเคยแล้วก็จะมีโอกาสในตลาดประเทศไทยและโอกาสในตลาดต่างประเทศด้วย

 

“โควิดเองก็เป็นโอกาสและเป็นวิกฤตของหลายๆธุรกิจ แต่ธุรกิจของเราอยู่ในสายยาซึ่งตอนนี้เทรนด์โลกเป็นเรื่องของสุขภาพ ทุกคนเริ่มป้องกันตัวเองและเสริมภูมิคุ้มกันซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราก็มีทางป้องกัน ทั้งที่ต้องมีต้องใช้ต้องติดตัว และเสริมภูมิ และอีกไม่นานเราจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งอยู่ในกระแสเช่นเดียวกันก็คือ เรื่องของกัญชง กัญชาภายในไตรมาส 3 หรือ 4 และจะมีสินค้าใหม่ๆอีกหลายตัวออกมา”

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโควิดจะส่งผลบวกกับสายธุรกิจ แต่อังกฤษตรางูก็ยังได้รับผลกระทบจากโควิดไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆในเรื่องของ กำลังซื้อผู้บริโภค เพราะคนมีรายได้น้อยลงเศรษฐกิจแย่ลง ของแพงขึ้นจากราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตรวมทั้งแพ็กเกจจิ้งที่ราคาขึ้นอย่างน้อย 30% ซึ่งอังกฤษตรางูพยายามบริหารจัดการภายในและควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมไปถึงการทำการตลาดผ่านช่องทางที่จะไปถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด

              

“ปัจจุบันร้านขายยาอังกฤษตรางูเหลืออยู่แค่ 1 สาขาที่ตั้งใจให้เป็นโชว์รูมวางจำหน่ายสินค้าทุกอย่างที่เรามีและมียาที่จะขายในร้านด้วยเพราะความชำนาญในธุรกิจรีเทลและร้านยาขายเริ่มหายไปตั้งแต่มุ่งเข้าสู่ธุรกิจผลิตและพัฒนาสินค้า และส่วนหนึ่งก็ไปสู่อีคอมเมิร์ซ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มของเราเองเพื่อให้มีขีดความสามารถในการที่จะเอาสินค้าของเราที่มีหลายร้อยรายการ

 

ภายใต้ผลิตภัณฑ์กว่า 20 แบรนด์ ซึ่งบางทีไม่สามารถที่จะนำมาโฆษณาได้เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล จึงคิดว่าจะต้องสร้างแพลตฟอร์มเองที่จะขายสินค้าของเรา ซึ่งตอนนี้เราก็มีสินค้าตรางูบนมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ส่วนการประชาสัมพันธ์เราก็ทำผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆซึ่งก็พยายามที่จะทำอยู่เท่าที่เราทำได้”

 

“อนุรุธ” ยังบอกอีกว่า กลุ่มสินค้าที่ตรางูจะโฟกัสหลักยังคงอยู่ในกลุ่มให้ความเย็น ซึ่งไม่ได้มีโอกาสแค่ในประเทศไทยแต่มีโอกาสในต่างประเทศความฝันของเราตอนนี้คือ อยากให้ตรางูเป็น global brand อยากเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ขายได้ทั่วโลก

 

เพราะตราบใดที่อากาศยังร้อนอยู่ ตรางูก็ยังมีโอกาสที่จะรับใช้ผู้บริโภค แต่ในชีวิตการทำงานของผมอยากที่จะโฟกัสในตลาดเอเชียให้ครอบคลุมทั้งหมดก่อน ตราบใดที่อังกฤษตรางูมีเจนเนอเรชั่นต่อๆไปก็จะมีคนมาสานต่อ ก็หวังว่าเขาจะรับช่วงในการที่จะนำแบรนด์เราไปขยายต่อ ซึ่งก็เป็นโอกาสในอนาคตที่จะทำให้แบรนด์คงอยู่และขยายต่อไป

 

“ตอนนี้เราโฟกัสประเทศไทย โฟกัสให้ผ่านโควิดนี้ไปให้ได้ และตั้งเป้าหมายให้ปีนี้เติบโต 20% แต่จากสถานการณ์แล้วคิดว่า ถ้าทำได้ 10-15% ก็ถือว่าทำได้ดีแล้ว”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,777 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2565