เจาะลึก 4 เทรนด์ทรงอิทธิพลแจ้งเกิด"กัญชง"ไทย

25 เม.ย. 2565 | 05:26 น.

ส่อง 4 เทรนด์ทรงอิทธิพลหนุนอุตสาหกรรมกัญชง แจ้งเกิดและเติบโตได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศจนก้าวเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้สำเร็จ

“กัญชง” กลายเป็นสมุนไพรที่น่าจับตา หลังจากถูกปลดล็อกออกจากพืชเสพติด ด้วยประโยชน์สรรพคุณด้านการดูแลและรักษามากมาย และในประเทศไทยถือเป็นแหล่งพันธุกรรมที่ดีที่สุดในโลก อะไรที่จะเป็นปัจจัยหนุนให้กัญชงไทยเติบโตในประเทศและต่างประเทศจนก้าวเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้สำเร็จ

 

นายกฤษณ์ ธีรเกาศัลย์ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด (GTG) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ “กัญชง” กลายเป็นที่ต้องการของตลาดและส่งเสริมให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ประกอบไปด้วย

 

1. สมุนไพรมาแรง ข้อมูลจาก ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทวิจัยตลาด ชี้ให้ว่าเห็นว่าในปี 2564 ยอดขายตลาดสินค้าสมุนไพรของโลกมีมูลค่าถึง 204,070 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโต (CAGR) คิดเป็น 5.9% ในปี 2563-2570 ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตสูงสวนสถานการณ์โลกที่เผชิญผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มายาวนาน ส่งผลทำให้ผู้บริโภคจึงหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและสกัดจากธรรมชาติเพิ่มขึ้น

 

โดย “กัญชง” เป็นอีกหนึ่งพืชสมุนไพรที่มาแรงในตลาดตอนนี้ เนื่องจากมีสรรพคุณด้านการรักษาหลากหลาย อาทิ ช่วยในเรื่องอาการวิงเวียน ปวดหัวหรือไมเกรน ช่วยแก้กระหาย รักษาอาการท้องร่วงโรคบิด ช่วยย่อย บรรเทาอาการเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อรักษาเกาต์ ลดอาการอักเสบ บรรเทาอาการชัก

2. ผลิตภัณฑ์ลดความเครียด การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนทั่วโลกเผชิญและจมกับความเครียดส่งผลต่อการนอนหลับ ภาวะอารมณ์ไม่ปกติ ส่งผลให้มองหาผลิตภัณฑ์ลดความเครียดมาเป็นตัวช่วย ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม จากข้อมูลกรมสุขภาพจิตพบว่าในปี 2563 ประชากรไทยมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับประมาณ 19 ล้านคน เกิดขึ้นได้ในประชากรทุกช่วงอายุ

 

สอดคล้องตามรายงานของ Coherent Market Insight องค์กรด้านการตลาดและบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ระบุว่าปี 2563 อาหารเสริมบำรุงสมองและผ่อนคลายความเครียดมียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นถึง 8.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 7,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มต่อเนื่องไปอีก 6 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2570 ถือเป็นตลาดที่เปิดโอกาสให้ “กัญชง” ได้เข้าไปชิงส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มนี้ เนื่องจากมีสรรพคุณที่โดดเด่น ด้านการช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น คลายกล้ามเนื้อ ต้านการอักเสบ ลดอาการปวด

 

 

3. กระแส Healthy Living ปัจจุบันคนต้องการมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ตอบโจทย์การมีสุขภาพที่ดีและมีสมดุลทั้งกายและใจ ช่วยลดความเครียด และมองหาสินค้าและบริการที่ส่งเสริมด้านนี้ได้ Healthy Living ถือเป็นเมกะเทรนด์โลกที่น่าจับตา โดยจะเห็นได้จากสินค้าและบริการต่างๆ ได้สอดคล้องไปกับกระแสนี้เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น กลุ่มประเภทอาหารและเครื่องดื่มใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล หรือใช้ “สาร CBD กัญชง” เป็นส่วนผสมช่วยให้ผ่อนคลายเพิ่มศักยภาพในการทำงานและทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน กลุ่มผลิตภัณฑ์ ดูแลส่วนบุคคล เช่น แชมพู เครื่องสำอาง ใช้ “สาร CBD กัญชง” เป็นส่วนผสมช่วยเพิ่มความชุ่มชื่น และลดการอักเสบ เพื่อลดการใช้สารเคมีที่มีผลตกข้างในร่างกายส่งผลให้ต่อสุขภาพในอนาคต

 

4. ตลาดสูงวัย ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่าใน ปี 2562-2593 ภูมิภาคเอเชียจะมีประชากรสูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปครองแชมป์อันดับ 1 ของโลก ซึ่งในประเทศไทยมีผู้สูงวัยคิดเป็น 17.2% ของจำนวนประชากร สูงเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อปีที่ผ่านมาที่ระบุว่าประเทศไทยมีผู้สูงวัย 13.8 ล้านคน สัดส่วน 20%ของประชากร นับเป็นอีกตลาดใหญ่ของ “กัญชง” เนื่องจากผู้สูงวัยคุ้นชินกับการใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและธรรมชาติ และมีปัญหาด้านการนอนหลับ วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งสรรพคุณของกัญชงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

 

 

“กัญชง” คือสุดยอดวัตถุดิบที่เป็นที่ต้องการของตลาดและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องเลือกที่คุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ ขั้นตอนการเพาะปลูก การดูแลรักษา ไปจนถึงกระบวนการสกัดเป็น CBD Oil ซึ่งจะต้องมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไร้สายมึนเมา ฉะนั้น CBD Oil ที่มีคุณภาพเป็นไปตามกฎหมายกำหนดถือเป็น “หัวใจ” สำคัญที่ตลาดมองหา

 

นายกฤษณ์ กล่าวเสริมว่า GTG มองเห็นความต้องการของตลาดจึงได้เร่งพัฒนาสายพันธุ์แม่ภายใต้ชื่อ ‘Raksa’ (รักษา) สายพันธุ์กัญชงที่เราได้ร่วมวิจัยและพัฒนาเป็นเวลากว่า 2 ปี จนเกิดเป็นสายพันธุ์กัญชงดังกล่าวที่สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้เพราะมีสารแคนนาบิไดออล (CBD) สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก