ททท.บูม ‘Sport Tourism’ แนะเอกชนปรับตัวรับเทรนด์โลก

11 เม.ย. 2565 | 23:37 น.

กระแส “ท่องเที่ยวเชิงกีฬา” มาแรง “อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ” รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) แนะภาคเอกชนปรับเทรนด์จัดอีเวนต์กีฬาวิถีใหม่ ชูจุดขายความยั่งยืน รับเทรนด์โลก

เทรนด์"การท่องเที่ยวเชิงกีฬา” หรือ “Sport Tourism” ทั่วโลกมาแรง ททท.เร่งผลักดันและสนับสนุนให้ภาคเอกชนปรับตัวจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงกีฬาวิถีใหม่ ที่ให้ความสำคัญทั้งเรื่องความปลอดภัยในระบบสาธารณสุขและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนภายใต้แนวคิด BCG

 

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการททท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมการจัดงาน หรือ Event Industry เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด- 19 ซึ่งยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปีแล้ว ส่งผล กระทบให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงักกระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และทั่วโลกเริ่มปลดล็อกการเดินทาง

 

อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ

 

ททท. จึงพยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจเร่งปรับตัว พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวมิติใหม่ๆ ที่ใส่ใจและคำนึงถึงความปลอดภัยในระบบสาธารณสุขควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างสรรค์กิจกรรมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 

ทั้งนี้จากการติดตามเทรนด์การท่องเที่ยวทั่วโลก พบว่าการท่องเที่ยวเชิงกีฬามีอัตราการเติบ โตเพิ่มขึ้นสูงสุด หลายประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการนำเอากีฬาเข้ามารวมกับการท่องเที่ยว เกิดเป็นกิจกรรมหรือสินค้าการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เข้าชมหรือเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา     

 

นอกจากนั้นแล้วทั่วโลกยังได้ปรับรูปแบบกิจกรรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้เหมาะสม สอดรับกับสถานการณ์การท่องเที่ยววิถีใหม่ New Normal โดยภาคธุรกิจและผู้จัดงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับตัวภายใต้ 3 ทิศทาง ที่สำคัญ ได้แก่

 

1. การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันมากขึ้น เช่น Virtual Events การสัมผัสประสบการณ์ทางเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) บนโลกเสมือน Metaverse, Hybrid Events การจัดงานผสมผสานองค์ประกอบแบบ Live และ Virtual เข้าด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม และ Live Event with Contactless Experiences การนำเอานวัตกรรมใหม่ๆ (Inno vation) และสื่อดิจิทัล (Digital Media) เข้ามามีบทบาทในการจัดงานมากขึ้น

2. เทรนด์ e-Sports กับการผสมผสานเทคโนโลยี (Emergence of e-Sports and Infusion of Technology) ทั้งนี้ กิจกรรม e-Sports เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มมิลเลเนียล ซึ่ง ชื่นชอบการเล่นเกมออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดชี้ว่า ตลาด e-Sports จะเป็นกิจกรรมที่ทำกำไรได้มากที่สุดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาทั่วโลก

 

3. การท่องเที่ยวเชิงกีฬาประเภทเดี่ยวหรือกีฬาที่เล่นคนเดียว (Individual Sports) มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น การทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ระหว่างคนที่รู้จักกัน อาทิ การเดินทางไปชมกีฬาร่วมกันจะได้รับความนิยมสูงขึ้น

 

ททท.บูม ‘Sport Tourism’ แนะเอกชนปรับตัวรับเทรนด์โลก

 

โดยในปี 2565 ททท.ได้ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยสร้างการรับรู้และกระตุ้นความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Sport Tourism ให้เกิดการเดินทางและกระจายรายได้สู่พื้นที่ต่างๆ ในแต่ละ ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจัดทำข้อมูลสินค้าการท่องเที่ยวเชิงกีฬานำเสนอข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวด้านกีฬาใหม่ๆ

 

อาทิ Golf & Sport Tourism และ 50 Shades of  Blues (กีฬาทางทะเล) รวมถึง|การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงกีฬา อาทิ Amazing Sports & Extreme Month (เทศกาลว่าวนานาชาติ, ไตรกีฬาจักรยานทางไกล, Amazing Multi Surf Festival และ Amazing Thailand City Run ที่จะมีขึ้นในปีนี้

 

ททท.บูม ‘Sport Tourism’ แนะเอกชนปรับตัวรับเทรนด์โลก

 

อีกทั้งเพื่อเป็นการตอบรับกับทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ททท. จึงมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด BCG เน้นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากการจัดกิจกรรมกีฬาใหญ่ๆ หลายครั้งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสร้างขยะจำนวนมาก 

 

การจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด BCG อาทิ การจัดหา สถานที่จัดงานโดยมีแนวทาง ปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมการจัดทำ E-Tickets ลดการใช้อุปกรณ์ซึ่งทำจากกระดาษที่ไม่จำเป็น การบริหารจัดการการกำจัดขยะและของเสีย การนำเสนออาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล และการสนับสนุนการเดินทางด้วยรถสาธารณะหรือยานพาหนะที่มลพิษน้อย ฯลฯ

 

นอกจากจะเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันและผู้ชมแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามมาอีกด้วย