"ไทยแอร์เอเชีย" ใส่เกียร์ ‘กลับมาบินต่างประเทศ’ ลุ้นกำไรปี 66

28 มี.ค. 2565 | 08:03 น.

การเปิดรับนักท่องเที่ยวของหลายประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ “ไทยแอร์เอเชีย” ทยอยกลับมาเปิดเส้นทางบินต่างประเทศอีกครั้ง ซึ่งในปีนี้สายการบินมีกลยุทธพลิกฟื้นธุรกิจอย่างไร ซีอีโอ AAV และ ไทยแอร์เอเชีย มีคำตอบ

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด เปิดใจว่า แม้โอมิครอนจะทำให้การขยายธุรกิจของ “ไทยแอร์เอเชีย” ช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ล่าช้าไปจากแผน แต่นับจากไตรมาส 2 ปีนี้ ถึงเวลาที่สายการบินจะใส่เกียร์ 5 กลับมาเปิดบินเส้นทางบินระหว่างประเทศอย่างเต็มตัวอีกครั้ง

 

ล่าสุดทยอยกลับมาเปิดบินใน 7 ประเทศ รวม 18 เส้นทางบิน เริ่มเดือนเม.ย.นี้ ได้แก่ กัมพูชา (พนมเปญ), มาเลเซีย (กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง ยะโฮร์ บาห์รู), มัลดีฟส์, สิงคโปร์, เวียดนาม (โฮจิมินห์ ฮานอย ดานัง), อินโดนีเซีย (บาหลี), อินเดีย (เบงกาลูรู โกลกาตาโกชิ ชัยปุระ เชนไน)

 

สันติสุข คล่องใช้ยา

อีกทั้งในช่วงครึ่งปี หลังนี้ ไทยแอร์เอเชีย ก็เล็งเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศไป เมียนมา ลาว ญี่ปุ่น (ฟุกุโอกะ และโอกินาวะ) รวมถึงฮ่องกง มาเก๊า และเมืองทางตอนใต้ของจีน ซึ่งคาดการณ์ว่าจีนจะทยอยเปิดบางเมืองก่อน หากโอกาสมาเมื่อไร เราพร้อมฉวยโอกาสเปิดบินทันที หลังจากหยุดบินไปเกือบ 2  ปี ซึ่ง เหตุผลที่ "ไทยแอร์เอเชีย"ทยอยกลับมาเปิดเส้นทางบินต่างประเทศเป็นเพราะ

 

1. คนไทยมีความเข้าใจสถานการณ์โควิดมากขึ้น และเรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกับโควิดได้ ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนมีเพิ่มขึ้น และประเทศอื่นๆ เริ่มทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งทั้ง 7 ประเทศที่เราเปิดบิน ก็ไม่มีการกักตัวแล้ว

 

2.  ก่อนหน้านี้ราคานํ้ามันค่อนข้างสูงจากการกักตุนนํ้ามัน เพื่อเกร็งกำไรจากการขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่ในขณะนี้ราคานํ้ามันเริ่มทรงตัว และเข้าสู่ขาลง หลังเห็นแนวโน้มการเจรจาที่ดีระหว่างสองประเทศ

 

3. ความพร้อมของสายการบินเอง ที่สายการบินสามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องได้สำเร็จ จากการเพิ่มทุน ซึ่งได้รับเม็ดเงินเข้ามา 9,900 ล้านบาท การคงฝูงบินและรักษาพนักงานให้อยู่กับเราได้มากที่สุด ทำให้เมื่อมีโอกาส เราก็สามารถกดปุ่มบินได้ทันที

ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียมีเครื่องบิน 53 ลำ เนื่องจากคืนไป 7 ลำ เพราะหมดสัญญาเช่า ส่วนพนักงานเราปรับลดให้สอดคล้องกับจำนวนเครื่องบิน จากก่อนโควิด-19 เคยมีกว่า 5,000 คน ปัจจุบันมีพนักงานราว 4,500 คนเป็นพนักงานเข้างานแบบฟูลไทม์ 60% ส่วนอีก 40% เป็นแบบเฟอร์โลก์ (Furlough) หรือให้พนักงานแอคทีฟสอดคล้องกับจำนวนเครื่องบินที่ใช้งานจริงและตั้งเป้าจะดึงพนักงานเข้างานแบบฟูลไทม์ครบ 100% ให้ได้ภายในไตรมาส 4 นี้

 

Airasia

การกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น ถือเป็นกุญแจหลักของไทยแอร์เอเชียในปีนี้ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องบินให้มีชั่วโมงบินที่เพิ่มขึ้นโดยตั้งเป้าเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเป็น 10.5 ชั่วโมงต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มจากอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเฉลี่ยในปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 6 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้มีกระแสเงินสดมาหมุนเวียนการใช้จ่ายได้ดีขึ้น เพราะเส้นทางบินระหว่างประเทศถือว่าเป็นเส้นทางที่ทำรายได้ให้แก่สายการบิน โดยก่อนโควิดรายได้จากเส้นทางบินต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ขณะที่เส้นทางบินในประเทศจะอยู่ที่ 40%

 

เราคาดว่าในปีนี้เมื่อสายการบินกลับมาเปิดบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศ จะทำให้เราใช้เครื่องบินได้เพิ่มขึ้น จากไตรมาส 1 บินได้อยู่ที่ 20 ลำ จะเพิ่มเป็น 30 ลำในไตรมาส 2 และจนถึงไตรมาส 4 น่าจะใช้ได้เกือบครบ 50 กว่าลำ โดยเราคาดว่าภายในปลายปีนี้เที่ยวบินในประเทศตลาดจะกลับมาได้เกือบ 100% เหมือนก่อนโควิด เพราะวันนี้สายการบินกลับมาเปิดบินครบทุกเส้นทางบินในประเทศแล้ว แต่ความถี่ยังไม่เท่าเก่า ส่วนตลาดต่างประเทศน่าจะกลับมาเหมือนเดิมในปีหน้า จากที่เราเปิดบินต่างประเทศในไตรมาส 2 ได้สัก 20% และจะเพิ่มเป็น 60% ในไตรมาส 4

 

โดยในปีนี้ถือเป็นช่วงแห่งการฟื้นฟู มองว่ายังไม่มีกำไร แต่พยายามลดการขาดทุนให้ได้มากที่สุด และตั้งเป้าว่าจะดึงผู้โดยสารใช้บริการ 12.3 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารจากเส้นทางบินระหว่างประเทศ 30% และเส้นทางบินในประเทศ 70% มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 78% แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะทำให้ภาพรวมการเดินทางในช่วงไตรมาส 1 สะดุดแต่จะพยามยามเร่งเครื่องไตรมาสที่เหลือของปี

 

นอกจากนี้ไทยแอร์เอเชีย ยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าอาจจะเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วย เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางบินในประเทศที่สายการบินมีให้บริการอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยจะหารือกับ Airasia Super app เพื่อให้ มีการผูกการทำตลาดร่วมกัน ส่วนในปีหน้าก็มีสิทธิลุ้นที่สาย การบินจะกลับมามีกำไรจากการดำเนินการได้ จากการเปิดบินต่างประเทศ และเรายังคงมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน  โดยเน้นการให้บริการโลว์คอสต์แอร์ไลน์ที่มีคุณภาพ ตรงต่อเวลา ซึ่งเราติดอันดับ 1 ใน 3 สายการบินต้นทุนตํ่าที่ตรงเวลาที่สุดในโลก ดังนั้นในแต่ละจุดบินที่เปิดบิน เราต้องมั่นใจว่ามีตลาด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำธุรกิจ