"ไทยแอร์เอเชีย"อ่วม ปี2564ขาดทุนทะลุหมื่นล้าน

24 ก.พ. 2565 | 05:02 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2565 | 16:46 น.

ไทยแอร์เอเชีย อ่วม ปี2564 ผลประกอบการขาดทุนทะลุหมื่นล้านบาท จากรายได้ที่หดตัวในอัตราที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ทั้ง AAV ดำเนินการปรับโครงสร้าง โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน-หุ้นกู้แปลงสภาพแล้ว ซึ่งได้เพิ่มทุนในบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด 3,900 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV  ได้รายงานผลประกอบการในปี 2564 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ถึงผลการดำเนินการของสายการบินไทยแอร์เอเชียในปี2564 โดยพบว่า บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ขาดทุนจากกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวดจำนวน 11,786 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของ 6,647.5 ล้านบาท จากผลกระทบของการเดินทางที่ชลอตัวจากโควิด-19 รวมถึงน้ำมันราคาพุ่ง

 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น ได้เริ่มดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้าง โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นกู้แปลงสภาพแล้วนั้น และได้เพิ่มทุนใน บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด จำนวน 3,900 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจากร้อยละ 55.0 เป็นร้อยละ 69.2 ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564

สำหรับปี 2564 บริษัท ไทยแอร์เอเชีย  จำกัด  มีค่าใช้จ่ายอื่นจำนวน 3,900.0 ล้านบาท โดยหลักเป็นผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 3,654.4 ล้านบาท พลิกจากกำไรจำนวน 545.6 ล้านบาท ในปี 2563 เนื่องจากผลต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนจากหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ยังไม่รับรู้จากเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีรายได้อื่นรวมจำนวน 679.0 ล้านบาท  โดยหลักเป็นผลกำไรจากตราสารอนุพันธ์จำนวน 391.2 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 37.2 ล้านบาท
 

 

ส่งผลให้มีผลขาดทุนจากกิจกรรมดำเนินงานสำหรับปี2564 อยู่ที่ 11,748.4 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นมาจากผลขาดทุนทางภาษีในงวดที่นำไปใช้ได้ในอนาคตและปรับโครงสร้างหนี้สินตามสัญญาเช่าดำเนินงาน ส่งผลให้บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด  มีขาดทุนสุทธิสำหรับงวดจำนวน 11,785.7 ล้านบาท แต่มีผลกำไรในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น จากการป้องกันความเสี่ยงกระแสเงินสดสุทธิภาษีเงินจำนวน 260.7 ล้านบาท รวมถึงผลกำไรจากประมาณการภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานสุทธิภาษีจำนวน 165.7 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 บจ. ไทยแอร์เอเชีย มีรายได้รวมจำนวน 2,152.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 48 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการจำนวน 1,528.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความวิตกกังวลต่อการระบาดของ COV D-19 สายพันธุ์ใหม่และมาตรการควบคุมการระบาดจากภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อความต้องการเดินทาง

 

ทำให้จำนวนผู้โดยสารในงวดนี้หคตัวร้อยละ 59 มาอยู่ที่ 1.15 ล้านคน และมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่รัอยละ 76 หรือลดลง 2 จุดจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดีราคา ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 1,130 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากการส่งเสริมการขายตั๋วบินรัว ทั้งนี้ บจ. ไทยแอร์เอเชีย มีรายได้บริการเสริมในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เท่ากับ 235.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 58 โดยหลักมาจากผลกระทบจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงและการห้ามจำหน่ายและให้บริการอาหารบนเครื่องบิน

 

สำหรับใตรมาสที่ 4 ปี 2564 บจ. ไทยแอร์เอเชีย มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 4,211.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เท่ากับ 5.426.0 ล้านบาท

 

โดยหลักมาจากต้นทุนขายและการบริการมีจำนวน 3,799.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงร้อยละ 64 จากไตรมาสที่ 4 ปี 2563 โดยปริมาณการใช้น้ำมันลดลงตามปริมาณเที่ยวบิน ในขณะที่ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีผลขาดทุนสัญญาแลกเปลี่ยนราคาน้ำมัน

 

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายพนักงานลดลงตามปริมาณเที่ยวบินที่ลดลง ขณะที่ค่าบำรุงรักษาเพิ่มขึ้นจากการตัดจำหน่ายเงินสำรองบำรุงรักษาเครื่องบินจากการขายและเช่ากลับ อย่างไรก็ตาม บจ. ไทยแอร์เอเชีย มีต้นทุนไม่รวมค่าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารอยู่ที่ 3.75 บาท เพิ่มขึ้นจาก 1.15 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

เนื่องจากปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารหดตัวในอัตราที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ส่งผลให้ บจ.ไทยแอร์เอเชีย มีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 อยู่ที่ 5.4 ชั่วโมงปฏิบัติการบินต่อวันของจำนวนเครื่องบินที่ปฏิบัติการบินลดลงจาก 6.3 ชั่วโมงปฏิบัติการบินต่อวันจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ปี 2564 เป็นปีที่ยากลำบากจากผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ที่จำเป็นต้องระงับการบินทุกเส้นทางชั่งคราว เพื่อช่วยกันป้องกันการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายรัฐ ส่งผลโดยตรงต่อสภาพคล่องเเละกระเเสเงินสด ทำให้บริษัทต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในการปรับลดขนาดองค์กรให้เหมาะสม พร้อมหาเงินทุนปรับโครงสร้างกิจการได้สำเร็จในช่วงท้ายปี ซึ่งทำให้บริษัทพร้อมเต็มที่สำหรับการแข่งขันและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วที่สุด 

 

“ตลอดปีบริษัทไม่เคยหยุดนิ่งในการปรับตัวและแสวงหาทุกโอกาสที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจด้านคาร์โก เช่าเหมาลำ และประโยชน์จากการปรับโฉมแบรนด์สู่ airasia Super App บุกธุรกิจไลฟ์สไตล์ ทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่ใหญ่และครอบคลุมขึ้น ต่อยอดธุรกิจสายการบินได้อย่างดี” นายสันติสุขกล่าว

 

ในปี 2565 ถือเป็นปีแห่งการฟื้นตัวธุรกิจ ซึ่งบริษัทวางแผนเดินหน้ารุกเพิ่มความถี่และเส้นทางบิน สอดคล้องบรรยากาศการท่องเที่ยวเดินทาง โดยคาดว่าจะกลับมาบินเส้นทางภายในประเทศร้อยละ 100 พร้อมเปิดเส้นทางระหว่างประเทศได้ต่อเนื่องต่อไป อีกทั้งวางกลยุทธ์ให้ฐานปฏิบัติการการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เสริมความแข็งแกร่งเส้นทางบินภายในประเทศ สร้างโอกาสการขนส่งทางอากาศควบคู่แผนขยายเส้นทางระหว่างประเทศ อีกทั้งยังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มความสะดวกปลอดภัย ลดการสัมผัส ผ่านระบบจดจำใบหน้า ซึ่งจะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้

 

ทั้งนี้ปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายขนส่งผู้โดยสาร 12.3 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสารร้อยละ 78 โดยไม่มีแผนรับมอบเครื่องบินเพิ่ม พร้อมวางแผนคืนเครื่องบินหมดอายุตามสัญญาเช่าและหมุนเวียนเครื่องบินภายในกลุ่มแอร์เอเชีย คาดการณ์บริษัทจะมีฝูงบินอยู่ที่ 53 ลำ ณ สิ้นปี