สยามพิวรรธน์ ปักหมุดมาเลเซีย เผยโฉมคอนเซ็ปต์สโตร์ “Discover Siam”

01 มี.ค. 2565 | 08:54 น.

สยามพิวรรธน์ จับมือพาวิลเลียน กรุ๊ป มาเลเซีย เปิดตัวร้านคอนเซ็ปต์สโตร์ “Discover Siam” ชูอัตลักษณ์ไทยสู่สายตาชาวโลก

นางอุสรา ยงปิยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าปลีก บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้พัฒนาธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เปิดเผยว่า สยามพิวรรธน์ร่วมมือกับ พาวิลเลียน กรุ๊ป ผู้ลงทุน พัฒนาและประกอบการศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ในการนำประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายไปสู่ลูกค้าชาวมาเลย์ เพื่อตอกย้ำผู้นำความคิดสร้างสรรค์ The Visionary Icon 

 

แสดงศักยภาพผู้นำความคิดสร้างสรรค์ โดยนำทัพ SMEs ไทย สยายปีกธุรกิจสู่ประเทศมาเลเซีย โดยเปิดตัว3 คอนเซ็ปต์ สโตร์ ได้แก่ Ecotopia, Absolute Siam และ ICONCRAFT ซึ่งรวมกลุ่มกันในชื่อ “Discover Siam” โดยทั้ง 3 ร้านนำเสนออัตลักษณ์แห่งความเป็นไทยที่ผสมผสานระหว่างแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย ออกมาเป็นสินค้าและบริการที่หาที่ไหนไม่ได้ บนพื้นที่ของ พาวิลเลียน บูกิต จาลิล โครงการที่เป็นหมุดหมายใหม่ในประเทศมาเลเซีย

สยามพิวรรธน์

“สยามพิวรรธน์ มุ่งผลักดันแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ พร้อมๆ กับการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลก ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ธุรกิจทั่วโลกหลากหลายอุตสาหกรรมอาจจะสะดุดหรือชะงักไปบ้างจากสถานการณ์โควิด-19 แต่แบรนด์ของไทยยังคงได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ ได้รับการติดต่อให้ไปวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง”

 

ดังนั้น การเปิด Ecotopia, Absolute Siam และ ICONCRAFT ที่ศูนย์การค้าพาวิลเลียน บูกิต จาลิล ไลฟ์สไตล์มอลล์ที่ใหญ่ที่สุดทางใต้ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้สยามพิวรรธน์ได้ร่วมมือกับ พาวิลเลียน กรุ๊ป ในการนำอัตลักษณ์แห่งความเป็นไทยในทุกมิติที่ถ่ายทอดผ่านชิ้นงานนวัตศิลป์และงานคราฟต์ร่วมสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์แบบดั้งเดิม ขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น

 

ทั้งนี้ พาวิลเลียน กรุ๊ป เจ้าของและผู้บริหารห้างระดับไฮเอนท์ และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าพาวิลเลียน บูกิต จาลิล (Pavilion Bukit Jalil) ไลฟ์สไตล์มอลล์ที่ใหญ่ที่สุดทางใต้ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่มีพื้นที่กว่า 1.8 ล้านตารางฟุต เป็นหนึ่งพันธมิตรทางธุรกิจทั่วโลกของสยามพิวรรธน์

สยามพิวรรธน์

โดยความร่วมมือแรกที่เกิดขึ้น คือ การเปิดร้าน Ecotopia, Absolute Siam และ ICONCRAFT ที่นำเสนอสินค้าไทย จากช่างฝีมือคนไทยในหมวดสินค้าต่างๆ โดยร้านทั้งสามได้รับการออกแบบตกแต่งด้วยองค์ประกอบงานศิลป์ต่างๆ รวมถึงผลงาน Art Installation ทั้งบริเวณทางเข้าร้าน และบริเวณอื่นๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์ น่าตื่นตาตื่นใจ เป็นการส่งมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับลูกค้าและนักช้อปชาวมาเลย์

 

สำหรับ Ecotopia แหล่งรวมสินค้าของคนรักษ์โลก ได้มอบให้หนึ่งในศิลปินที่แบรนด์สนับสนุนมายาวนานสร้างสรรค์ผลงาน installation ชื่อว่า “Siam Yak” หุ่นยักษ์ไทยที่สร้างจากพลาสติกและวัสดุรีไซเคิลต่างๆ ซึ่งสะท้อนค่านิยมของ Ecotopia ด้วยการผสมผสานวัสดุรีไซเคิลเข้าด้วยกันจนเป็นผลงานศิลปะให้ทุกคนได้ชม โดยแบรนด์ที่จะนำไปวางจำหน่าย เช่น MAG FISH, SEASUN Society, CHEWW.CO และ SUPERBEE

 

ส่วน ICONCRAFT แหล่งรวมสุดยอดงานคราฟต์ของช่างฝีมือไทยทั่วประเทศ ออกแบบพื้นที่และตกแต่งโดยคุณสุวรรณ คงขุนเทียน เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทย โยธกา (YOTHAKA) ที่นำงานหัตถกรรมมาผสานงาน ออกแบบให้ดูน่าหลงใหล เสริมความโดดเด่นให้กับแบรนด์ที่จะนำไปวางจำหน่าย ได้แก่ 5VIE SIS, Graph, Bangkok Baskets, COSMOS AND HARMONY และ KITTHA KHON

สยามพิวรรธน์

ขณะที่ Absolute Siam แหล่งรวมไลฟ์สไตล์แฟชั่นสุดล้ำ ได้นำรถสามล้อตุ๊กๆ ไทยแลนด์ หนึ่งในสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยมาประดับเป็นแลนด์มาร์คของพื้นที่ เพื่อสร้างความสนใจให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมภายในร้านที่เต็มไปด้วยสินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยสุดล้ำ อาทิ มหานคร ,TA.THA.TA, CORALIST, ANONA

 

“การเปิด Discover Siam  ถือเป็นก้าวแรกของแผนส่งเสริมและสนับสนุนความสามารถของผู้ประกอบการและนักออกแบบไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตจากการขยายช่องทางจัดจำหน่าย และเจาะกลุ่มเป้าหมายในตลาดต่างประเทศที่กว้างขึ้น ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะสามารถสำรวจช่องทางจัดจำหน่ายแบรนด์ของไทยใหม่ๆผ่านพันธมิตรทางธุรกิจทั่วโลกของสยามพิวรรธน์ไปได้อีกอย่างน้อย 12 ประเทศ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการเจรจา โดยเชื่อมั่นว่านี่จะเป็นอีกเวทีสำคัญที่จะ ผลักดัน Local Hero ให้เติบโตก้าวไปสู่การเป็น Global Hero และเพื่อให้สยามพิวรรธน์สามารถต่อยอดขยายสู่การค้าขายในเวทีโลกได้อย่างประสบความสำเร็จ”