เพิ่ม thansettakij
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
จากกรณี บิ๊กดีลระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ True ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Dtac โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ เทเลนอร์ ประกาศควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นจะมีการตั้งบริษัทฯใหม่และถือหุ้นเท่ากันในสัดส่วน 50:50 ภายในกลางปี 2565
ส่งผลให้หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ),รวมทั้ง 87 คณาจารย์เศรษฐศาสตร์ และ นิติศาสตร์ รวมถึงสภาองค์กกรของผู้บริโภค หรือ สอบ. กังวลว่าดีลนี้อาจทำให้เกิดการผูกขาดและเกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้า พร้อมกับทำหนังสือถึง กสทช. เพื่อคัดค้านควบรวมทรู กับ ดีแทคไปก่อนหน้านี้
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า กรณีการควบรวมกิจระหว่าง ทรู กับ ดีแทค กสทช.ชุดรักษาการณ์ควรจะ take action ได้แล้วเนื่องจากไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องรอ กสทช.ชุดใหม่ เพราะหน้าที่ของกสทช.ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้กระทำการผูกขาดและเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
นับตั้งแต่วันแรกที่ ทรู กับ ดีแทค ประกาศยื่นหนังสือต่อตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่มีข่าวลือว่ากำลังเริ่มเจรจาเพื่อควบรวมธุรกิจกลายเป็นบริษัทใหม่และบริษัทเดิมจะหายไป มีการเขียนอัตราแลกหุ้นมาเสร็จสรรพถึงแม้ว่าจะประกาศว่าอยู่ระหว่างการหารือกัน แต่เมื่อมีการคำนวณอัตราแลกหุ้นมาแล้วแปลว่าการคำนวณนี้คงไม่ได้มาลอยๆ
เพราะในทางการเงินการคำนวณจะต้องมาจากการประเมินมูลค่าของกิจการเบื้องต้น ต้องมีการพูดคุยกันในบางระดับ เพราะฉะนั้นชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่วันแรกที่ 2 บริษัทแสดงเจตจำนงต่อสาธารณะก็เห็นชัดแล้วว่าจะเป็นการควบกิจการที่ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่าการแข่งขันจะลดลงอย่างแน่นอนด้วยสมการง่ายๆคือผู้เล่นรายใหญ่จาก 3 รายเหลือ 2 ราย ซึ่งตรงนี้ไม่จำเป็นจะต้องมีการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดแต่อย่างใดเพราะเห็นชัดอยู่แล้วถ้าปล่อยให้ 2 บริษัทเดินหน้าไปโดยที่ไม่มีหน่วยงานไหนเลยมาคอยกำกับก็จะนำไปสู่ภาวะที่อาจจะเกิดการผูกขาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ซึ่งความไม่เป็นธรรมทางการแข่งขันอาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ก่อนที่การเจรจาควบรวมจะสิ้นสุด แน่นอนว่าขั้นตอนการเจรจาไม่ใช่ขั้นตอนที่จะทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ ล่าสุดคาดว่าอาจมีการยกระดับการเจรจาที่มากกว่าประเด็นทางธุรกิจไปสู่การศึกษาประเด็นต่างๆทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ประเด็นที่สำคัญคือ ในการเจรจาขั้นแรกก่อนที่จะแจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงอัตราแลกหุ้นที่ทั้ง2บริษัทคาดหมาย คำถามก็คือว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอะไรบางอย่างกันแล้ว พูดง่ายๆคือ 2 บริษัทนี้จากที่เคยเป็นคู่แข่งกันในตลาดแน่นอนว่าในฐานะคู่แข่งไม่ยินดีที่จะให้มาล่วงรู้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลภายในที่ส่งผลต่อความสามารถในทางการแข่งขัน
แต่เมื่อเริ่มกระบวนการเจรจาแล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบางอย่างระหว่างกัน เพราะลำพังการแลกเปลี่ยนข้อมูลในชั้นนี้ต่อให้ยังไม่ได้มีการตกลงกัน 100% ว่าการควบรวมจะเดินหน้า ตรงนี้ก็เป็นเหตุให้กังวลแล้ว ว่าจะเกิดความไม่เป็นธรรมทางการแข่งขันเกิดขึ้น
แต่สุดท้ายประเด็นที่ว่าจะควบรวมหรือไม่ควบรวม กสทช. มีหน้าที่ที่จะกำกับการกระทำใดๆหรือว่าพฤติกรรมที่ส่อเค้าจะก่อความไม่เป็นธรรมทางการแข่งขัน เพราะฉะนั้นกสทช. ไม่ควรจะรออะไรเลยตั้งแต่วันแรกที่มีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ก็ควรจะวางกระบวนการกำกับแล้วเรียกข้อมูล หรือนำไปสู่การใช้มาตรการเฉพาะ ที่จะกำจัดหรือลดอำนาจการผูกขาดตรงนี้ได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากสทช. ค่อนข้างช้าและไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะทำงานแบบนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ชัดเจนใน 2 เรื่องคือต้องป้องกันการผูกขาดและแก้ไขความไม่เป็นธรรมทางการแข่งขัน
แม้แต่ชั้นของการเจรจาเบื้องต้นก็สุ่มเสี่ยงแล้วที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลบางอย่างที่จะนำไปสู่การไม่เป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ในต่างประเทศมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดที่ค่อนข้างเข้มข้นและพัฒนามานานและให้ความสำคัญกับกระบวนการเจรจา เพราะเขามองว่ามันมีความสุ่มเสี่ยงมีการฮั้วราคากันหรือทำข้อตกลงบางอย่างที่นำไปสู่การไม่เป็นธรรมเขาก็จะมีการกฎเกณฑ์ที่จะเข้ามากำกับกระบวนการเจรจาก่อนที่ดีนั้นจะสิ้นสุด
ดังนั้นไม่มีเหตุผลใดๆที่จะรีรอให้มีกสทช. ชุดใหม่หรือคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามา ส่วนตัวเห็นว่ายิ่งรอความเสี่ยงยิ่งเพิ่มพูนขึ้นไปอีก เพราะฉนั้นกสทช.ชุดรักษาการณ์ควร take action เพราะว่าถ้ารอกสทช. ชุดใหม่อาจจะป้องกันไม่ทัน”