‘สเฟียร์เอท’ หนุนดิจิทัล รับมือโลกเปลี่ยนเร็ว-แข่งขันสูง

18 ก.พ. 2565 | 07:59 น.

“สเฟียร์เอท” แนะองค์กรไทยเตรียมพร้อมก้าวสู่ “ดิจิทัล” เพิ่มขีดความสามารถรับมือโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว การแข่งขันสูง พร้อมให้บริการคำปรึกษา Business Matching ขยายการลงทุนในไทย-ต่างประเทศ

นางสาวบุญศิริ หัสสรังสี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สเฟียร์เอท จำกัด (SPHERE8) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สเฟียร์เอท เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์พัฒนาธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล และการจับคู่ทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ต่างมีความจำเป็นต้องทรานส์ฟอร์ม และปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าธุรกิจ ให้สามารถแข่งขันบนโลกธุรกิจได้ ซึ่งหากองค์กรใดปรับตัวได้ก่อนก็จะชิงความได้เปรียบก่อน

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีองค์กรจำนวนหนึ่งให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่ก็พบว่ามีอีกจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจและเข้าไม่ถึงการทรานส์ฟอร์มสู่เทค โซลูชั่น ดังนั้นจึงมองเห็นช่องว่างและโอกาสในการเข้าให้บริการ ซึ่งสเฟียร์เอทจะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่องค์กร ได้แก่ 1. การจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) 2. การหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในการร่วมลงทุน ขยายธุรกิจ และ 3. การนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มศักยภาพทำให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

บุญศิริ หัสสรังสี

“สเฟียร์เอทจะทำงานร่วมกับองค์กรในเชิงปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์และแผนการ ที่วางแผนไว้ จะร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา มองหาโอกาสในการพัฒนาและขยายธุรกิจ จากนั้นจึงเฟ้นหาเทคโนโลยีหรือโซลูชั่นที่ตอบโจทย์จากเครือข่ายทั่วโลก และวางแผนนำ เทคโนโลยีเหล่านั้นเข้ามาประยุกต์ใช้กับองค์กร”

 

ที่ผ่านมาสเฟียร์เอทให้คำปรึกษากับองค์กรทั้งองค์กรขนาดใหญ่ เอสเอ็มอีและโครงการของภาครัฐมาแล้วกว่า 30 องค์กร ซึ่งมองว่ายังมีองค์กรไทยอีกมากที่ต้องการทรานส์ฟอร์องค์กร บริษัทจึงรุกตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้าองค์กรใหม่ๆ มากขึ้น ผ่านเครือข่ายต่างๆที่มีรวมทั้งการทำ seminar/webinar กับพาร์ทเนอร์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าธุรกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์บริษัทผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น

ทรานส์ฟอร์ม

ขณะที่ไตรมาส 2-3 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจไปยังกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยมุ่งเน้นไปที่การผลักดันและช่วยเหลือสตาร์ทอัพไทย ตั้งแต่การให้คำปรึกษาทางธุรกิจไปจนถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยช่องทางที่มองไว้ คือ ผ่านทางหน่วยงานของภาครัฐ มหาวิทยาลัย นักลงทุน และพาร์ทเนอร์ของเราที่อยู่ในระบบนิเวศทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 20% โดยมาจากการให้คำปรึกษาด้านการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ 70% และอื่นๆ 30%

สเฟียร์เอท

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาพบว่าองค์กรต่างๆ ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการปรับตัวรับเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ขณะเดียวกันก็มีโซลูชั่นใหม่ๆ เกิดขึ้นในต่างประเทศต่อเนื่องซึ่งองค์กรไทยยังติดปัญหาเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมในการเขาถึง ขณะที่ความหลากหลายของเทคโนโลยีทำให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้ตามที่องค์กรต้องการ จึงไม่ใช่ปัญหาขององค์กรขนาดเล็ก ในทางตรงข้ามองค์กรเล็กจะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวมากกว่าองค์กรใหญ่

 

ทั้งนี้มองว่า ภาคธุรกิจไทยที่จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อก้าวสู่เทคคอมปะนี รองรับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ 1. Fintech การพัฒนาของโลกการเงินทำให้องค์กรไทยต้องพัฒนาตลอดเวลา 2. FoodTech/AgriTech ประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ ทั้งภาคเกษตรกรรมและการนำไปต่อยอดสู่อาหาร 3. Medical/Healthcare การเดินหน้าผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านการแพทย์ ทำให้ต้องเร่งพัฒนาและยกระดับด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพให้มีความก้าวหน้าล้ำสมัย

 

4. Environment & Energy การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะทำให้ไทยมีความได้เปรียบและความปลอดภัยสูง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุน 5. Industry Tech ไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีความพร้อมและเป็นฐานการผลิตของหลายอุตสาหกรรม การพัฒนาด้านเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มศักยภาพและขับเคลื่อนดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามามากขึ้น 6. IT& Cyber การมีระบบ IT และมีความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง นับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกองค์กรต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,758 วันที่ 17 - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565