‘ณุศาศิริ’  ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่  Health and Technology 

02 ต.ค. 2564 | 03:40 น.

“ณุศาศิริ” กับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการทรานส์ฟอร์มตัวเอง จากองค์กรผู้นำในธุรกิจอสังหาริมทรัย์ สู่ธุรกิจใหม่ “Health and Technology”

โดยแม่ทัพหญิง “ศิริญา เทพเจริญ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ที่กำลังเร่งปลุกปั้นโมเดลอย่างขะมักเขม้น

"คุณหมวย- ศิริญา” ฉายภาพ ณุศาศิริ ที่กำลังถูกขับเคลื่อนและก้าวไปสู่ความเป็นสากล ทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว และด้านสุขภาพ ฯลฯ ด้วยการร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อดูแลและบริหารการจัดการต่างๆ โดยทั้งหมดเกิดจากความเชื่อในวิธีการรักษาแบบธรรมชาติ การดูแลรักษาแบบชะลอวัย (Entry Aging) ซึ่งเธอเคยพาคุณพ่อไปรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่ประเทศเยอรมันมาแล้ว จนเกิดเป็นธุรกิจ คลินิกเวลล่าเมดิก้าในเมืองไทย ที่ส่งต่อให้เพื่อนดูแล 
  ‘ณุศาศิริ’  ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่  Health and Technology 

จากความเชื่อมั่นในวิธีการรักษาดังกล่าว ทำให้เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ณุศาศิริได้ไปเปิดโรงพยาบาลที่จีน ตอนนั้นเป็นช่วงแรกของการขยายงานด้านสุขภาพไปที่ประเทศจีน ด้วยวิธีการรักษาแบบธรรมชาติมีการใช้สเต็มเซลล์เขามารักษาผู้ป่วย และจากการทำงาน ได้เห็น Pain Point ทางด้านภาษา จึงเกิดไอเดียในการทำแพลตฟอร์มทางการแพทย์ “Morhello” (หมอฮัลโล) อย่างเป็นรูปธรรม 
 

“คุณหมวย” อธิบายเพิ่มเติมว่า ธุรกิจที่ณุศาศิริกำลังเดินหน้า มี 3 ส่วนสำคัญคือ 1. โรงพยาบาล ซึ่งเปิดแล้วที่ประเทศจีน เป็นโรงพยาบาลทางเลือก ที่เป็นการใช้สเต็มเซลล์ หรือการรักษาแบบชะลอวัย ใช้ธรรมชาติในการรักษาฟื้นฟูสภาพร่างกาย และยังเป็นศูนย์การวิจัยพัฒนานวัตกรรมในการรักษาฟื้นฟู 2. ส่วนของแพลตฟอร์ม นั่นก็คือ “Morhello”  

และ 3. ส่วนของโปรดักต์ที่เป็นนวัตกรรม รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่เดินหน้าไปแล้วก็คือ การร่วมมือกับบริษัท CSR จากประเทศจีน ทุ่มงบกว่า 1,000 ล้านบาท ตั้งศูนย์วิจัยนำ “กัญชา กัญชง” แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลก

‘ณุศาศิริ’  ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่  Health and Technology 
เครือข่ายธุรกิจด้านสุขภาพที่ “คุณหมวย” สร้างขึ้น จะเชื่อมโยงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่พยายามจะเฟดส่วนที่ขาดทุน ไม่ทำกำไร ออกไป จะเหลือไว้เพียงโครงการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งจะเข้ามาเชื่อมโยงเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น โครงการ เมอเวนพิค มาย โอโซน เขาใหญ่ จะสร้างให้เป็นเมืองกัญชาเพื่อสุขภาพครบวงจร ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมารักษาและฟื้นฟูสุขภาพในประเทศไทยแบบระยะยาว

อีกโครงการ คือ “เลเจนด์ สยาม พัทยา” แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แลนด์มาร์ค ธีมพาร์ค และแหล่งช้อปปิ้งที่ใหญ่สุดในภาคตะวันออก จะถูกปรับให้เป็นแหล่งปลูกกัญชา -กัญชงในเชิงงานศึกษาวิจัย เป็นศูนย์การเรียนรู้กัญชา กัญชง ของโลก เพิ่มความรู้ความเข้าใจในประโยชน์ของพืชมหัศจรรย์นี้สู่สายตานักท่องเที่ยว 
  ‘ณุศาศิริ’  ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่  Health and Technology   

ส่วนของแพลตฟอร์มของ “Morhello”  ซึ่งจะเป็นสตาร์ในช่วงนี้ “คุณหมวย” กำลังเปิดคอร์ส เว็บบินาร์ หลักสูตรการอบรมเชิงวิชาการขั้นสูงสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่สนใจเฉพาะด้านอนาคตของการดูแลสุขภาพอย่างมืออาชีพ : การศึกษากัญชาทางการแพทย์เชิงวิชาการขั้นสูง Morhello Webinar : The future & beyond of Medicinal Cannabis ที่จะเริ่มต้นอบรมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 รวมไปถึงหลักสูตรสำหรับคนผู้ประกอบการที่อยากพัฒนาโปรดักต์จากกัญชา-กัญชง ซึ่งอนาคตกลุ่มที่เข้ามาศึกษาตรงนี้ จะกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่สามารถร่วมต่อยอดและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันได้ 
 

แพลตฟอร์ม “Morhello” จะถูกผลักดันเข้าสู่ระดับโกลบอล ที่โฟกัสด้าน Entry Aging ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมที่ผลิตออกมาจะเป็น Green 
Medicine
ไม่ใช่เคมี ประเทศไทยจะเป็นเซ็นเตอร์ของเอเชีย เป็นการแพทย์ของคนไทย ที่มีเฮดควอเตอร์ที่เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งจะเปิดประมาณต้นปีหน้า
 

อีกหนึ่งแนวคิดที่น่ายกย่องของหญิงเก่งคนนี้ คือ “ณุศา ซีเอสอาร์” เป็นการส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งจะเริ่มต้นปี 2565 ที่นอกจากส่งเสริมการปลูก แต่จะหาตลาดให้ด้วย ส่งทั้งตลาดจีน สหรัฐเมริกา ญี่ปุ่น ซึ่งโดยเบื้องต้นจะเปิดรับประมาณ 1.5 หมื่นไร่ ก่อน 
 การดำเนินธุรกิจที่หลากหลายของณุศาศิริ ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์เดิม และภาคการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จนมาถึงธุรกิจ “Health and Technology” และยังคืบไปถึงซีเอสอาร์ในภาคเกษตรกรรม การปลูกพืชสมุนไพร “คุณหมวย” ได้วางและคัดสรรคนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เข้ามาทำหน้าที่ มีซีอีโอแต่ละส่วนงานเข้ามาดูแล ส่วนเธอทำหน้าที่กำกับในเชิงนโยบาย สำหรับธุรกิจ “Health and Technology”  ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้น ก็ยังเข้าไปดูแลเอง  โดยมีทีมอาร์แอนด์ดีระดับโลก มีทีมการตลาดสำหรับตลาดญี่ปุ่น และจีน เข้ามาช่วยเสริม จนเมื่อทุกอย่างเข้าที่ก็จะขยับต่อไปยังส่วนของซีเอสอาร์ ซึ่งก็มีพันธมิตรทั้งภาคมหาวิทยาลัยและรัฐ เข้ามาสนับสนุน


“อาชีพนี้เป็นความฝัน ทำแล้วมีพลัง...ธุรกิจนี้ลงทุนไม่เยอะเหมือนอสังหาฯ และเป็นความชอบของเรา เรามีความมุ่งมั่น อยากให้คนมีความสุข เราทำทุกอย่างอยู่ในกรอบ คือ อาชีพสุจริต ได้ทำสิ่งที่ชอบ และยังช่วยให้คนไม่ป่วย”


นี่คืนเส้นทางการทรานส์ฟอร์มของ “ณุศาศิริ” ภายใต้การนำทีมของผู้หญิงเก่ง “ศิริญา เทพเจริญ”

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,718 วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564