"ทัวร์เที่ยวไทย"เข็นไม่ขึ้น ตัด 8 แสนสิทธิ์ส่งงบ 4 พันล้านคืนสภาพัฒน์

18 ม.ค. 2565 | 00:13 น.

รมว.ท่องเที่ยวฯ เผยโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” จองคนใช้สิทธิ์น้อยมาก เหตุจากคนเที่ยวผ่านบริษัททัวร์น้อย หลังโควิด เดินหน้าตัด 8 แสนสิทธิ์ ส่งงบ 4,000 ล้านบาทคืนสภาพัฒน์ เหลือให้เอกชนทำต่อ 2 แสนสิทธิ์ โดยหวังว่าจะใช้สิทธิ์ที่เหลือหมดก่อน 30 เม.ย.65

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าการสนับสนุน โครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 เมษายน 2565 นั้น กระทรวงฯ เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีคนใช้สิทธิเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์น้อยมาก  เพราะหลังจากเปิดดำเนินการโครงการไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงขณะนี้มีผู้ใช้สิทธิ์ไปเพียง 27,000-28,000 สิทธิ์เท่านั้นจาก1ล้านสิทธิ์ ไม่เหมือนกับโครงการ"เราเที่ยวด้วยกัน"ที่ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากประชาชน

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงได้หารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสัคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพื่อขอคืนสิทธิ์ในโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” จำนวน 800,000 สิทธิ์ หรือกรอบงบประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยยังคงเหลือไว้ให้ดำเนินโครงการต่อจำนวน 200,000 สิทธิ์ ภายใต้กรอบงบประมาณ 1,000 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม หากจำนวน 200,000 สิทธิ์ที่เหลือนั้นภาคเอกชนท่องเที่ยวสามารถดำเนินการได้ และจำนวนสิทธิ์หมดก่อน 30 เมษายน 2565 ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะรีบดำเนินการของบประมาณก้อนใหม่มาทำโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ต่อไป

"จากที่บริษัททัวร์นำเที่ยวอยากให้คงสิทธิโครงการทัวร์ทั่วไทยไว้ที่ 1 ล้านสิทธิเท่าเดิมนั้น ขอถามกลับไปว่า ขณะนี้มีคนเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์เหลือมากน้อยเท่าใดในสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ทำไมต้องดึงวงเงินที่ไม่ได้ใช้ร่วมกว่า 4,000 ล้านบาทเอาไว้ด้วย ซึ่งหากบริษัทนำเที่ยวสามารถขายแพคเกจทัวร์ผ่านโครงการทัวร์เที่ยวไทยได้หมดที่ 200,000 สิทธิ อย่างที่กำหนดไว้ให้ได้ กระทรวงก็พร้อมจะเสนอของบประมาณเพิ่มเติมก้อนใหม่ให้กับโครงการทัวร์เที่ยวไทยดำเนินการต่อ” นายพิพัฒน์ กล่าว

 

นายอดิษฐ์  ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า)ระบุว่า โครงการ "ทัวร์เที่ยวไทย" มีผู้ใช้สิทธิ์ ไม่มากไม่ใช่เพราะคน ไม่อยากเที่ยวกับทัวร์ แต่สาเหตุหลัก มาจาก โครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" เป็น คู่แข่งกับ"ทัวร์เที่ยวไทย" อย่างมีนัยยะสำคัญเพราะ

 

  • "เราเที่ยวด้วยกัน"  สามารถใช้สิทธิ์ 1 คนเดินทางได้ทั้งคณะ 

 

  • "เราเที่ยวด้วยกัน" 1 สิทธิ์ได้ส่วนลด ถึง 50,000 บาท และ เที่ยวได้หลายครั้ง ในขณะที่ "ทัวร์เที่ยวไทย" 1 คน 1 สิทธิ์ 5,000 บาท เที่ยวซ้ำไม่ได้ พาคนเดินทางด้วยไม่ได้

 

  • ระบบการใช้สิทธิของ "เราเที่ยวด้วยกัน" สะดวกกว่า "ทัวร์เที่ยวไทย" เพราะผ่านการปรับปรุงมาหลายครั้ง 

 

ดังนั้นการแจ้งเหตุผล ในการกล่าวว่า คนไม่นิยม เที่ยวผ่านทัวร์ ไม่ใช่เหตุผล แต่ สัดส่วนของ คนนิยมเดินทางด้วยตนเองทีมากกว่า นั้นถูกต้อง แต่คนเที่ยวผ่านทัวร์ เป็นลูกค้า อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการบริการที่ปลอดภัย และ สะดวกมากกว่า การเดินทางด้วยตนเอง ซึ่งปกติ เป็นคนสูงวัย ที่นิยมใช้บริการแบบทัวร์  และ เป้าหมายของโครงการนี้คือ ช่วยผู้ประกอบการนำเที่ยว

 

ส่วนประเด็นที่ "ทัวร์เที่ยวไทย" มีการใช้บริการยังน้อย สาเหตุหลักเป็นเพราะ

 

  • ระบบที่นำมาใช้กับ "ทัวร์เที่ยวไทย"มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติมาก ทำให้ผู้ประกอบการ มีความกังวล ในการเบิกจ่าย เพราะต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า 40% 

 

  • ระบบการวางแพ็คเกจมีข้อจำกัด ตั้งแต่ การลงเส้นทางท่องเที่ยว และ การเปลี่ยนแปลงให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า มีข้อจำกัดค่อยข้างมาก

 

  • ช่วงเปิดโครงการ"ทัวร์เที่ยวไทย" คู่ขนาน กับ '"เราเที่ยวด้วยกัน" ด้วยสิทธิ์ที่ส่วนลดมากกว่า เดินทางเป็นคณะ รวมถึง ใช้สิทธิ์ ได้หลายครั้ง และ ระบบที่มีสะดวกกับการใช้งานของ ผู้เดินทาง มากกว่า ทำให้ ได้รับความนิยม และ เป็นเหตุให้ "ทัวร์เที่ยวไทย" ได้รับความนิยมน้อยกว่า มากในเวลาเดียวกัน

 

ดังนั้นจึงใช้เวลาในการปรับตัว และ ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเริ่มเข้าใจ และ เข้าร่วมโครงการมากขึ้น แต่มาพบภาวะโควิด ระบาด ระลอกใหม่ ทำให้ เกิดการหยุดชะงักอีกครั้ง  

 

โครงการ"ทัวร์เที่ยวไทย" เป็นโครงการเดียว ที่ผู้ประกอบการนำเที่ยว ได้มีโอกาสได้รับการเยียวยา และ ฟื้นฟูธุรกิจ รวมถึงการจ้างงงาน หากวันนี้ ฝ่ายบริหาร นำแต่ผลลัพธ์ ของ ตัวเลข ของโครงการ โดยเทียบกับ เราเที่ยวด้วยกัน ผมคิดว่า เป็นความไม่ยุติธรรม โดยสิ้นเชิงของวิธีมองผลลัพธ์

 

เพราะข้อจำกัด ที่ต่างกันมากมาย ย่อมมีผลลัพธ์ที่ต่างกัน และ เป้าหมายของ"ทัวร์เที่ยวไทย" คือการช่วย ผู้ประกอบการนำเที่ยว และ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง เหตุใด ไม่ดำเนินการให้สุดทาง ตามที่ควรจะเป็น