‘สมใจ’ เครื่องเขียน ในมือเจน3 ‘คู่ค้าคือคู่หู...คู่หูคือคู่คิด’

25 ธ.ค. 2564 | 03:43 น.

เมื่อซัก 5-6 ปีที่แล้ว “ตาล-นพนารี พัวรัตนอรุณกร” ทายาทรุ่น3 ของ สมใจกรุ๊ป ได้เข้ามาทำหน้าที่บริหารธุรกิจของครอบครัว ด้วยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มเข้ามาเรียนรู้และปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลง

“คุณตาล” เข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่ง กรรมการบริหารฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท สมใจ ค้าหนังสือเครื่องเขียน จำกัด เธอและพี่น้องอีก 2 คน คือ ‘วิภ’- วิภวานี วิทยานนท์ และ ‘เนม’-วิธวินท์ วิทยานนท์ เข้ามาร่วมกันทำหน้าที่บริหารเปลี่ยนลุค

‘สมใจ’ เครื่องเขียน ในมือเจน3  ‘คู่ค้าคือคู่หู...คู่หูคือคู่คิด’

“สมใจ” ร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ ที่เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2498 ให้มีความทันสมัย ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างโมเดลธุรกิจใหม่แบบสตาร์ทอัพ ผ่านบริษัท “สมใจ ออนไลน์” พร้อมนำ Creativity และ Technology เข้ามาต่อยอดรีแบรนด์ร้านเครื่องเขียนสมใจ ทำให้ธุรกิจเกิดการขยายตัวต่อเนื่อง

อีกส่วนสำคัญคือระบบ การบริหารแบบเก่าที่ใช้กำลังคนจำนวนมาก ไม่ตอบโจทย์กับโลกยุคใหม่ “คุณตาล” อธิบายว่า ได้นำระบบเข้ามาใช้ เพื่อใช้คนน้อยที่สุด ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดและต้องได้ผลที่ดีที่สุด

‘สมใจ’ เครื่องเขียน ในมือเจน3  ‘คู่ค้าคือคู่หู...คู่หูคือคู่คิด’

แต่แน่นอนว่า การเริ่มต้นย่อมมีอุปสรรคและปัญหา ซึ่งเธอได้พยายามลองผิดลองถูกปรับปรุงมาเรื่อยๆ ด้วยการพูดคุยและแชร์ไอเดียกับพนักงาน พร้อมเติมความรู้ให้กับพนักงานที่มีอยู่ให้พร้อมก้าวไปกับธุรกิจการขายในโลกยุคใหม่  ที่ไม่ได้มีเพียงหน้าร้านขายของ แต่มีทั้งโลกออนไลน์ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และเวปไซด์สมใจออนไลน์ 

นอกจากการเดินหน้าปรับปรุงรูปแบบการขาย ขยายหน้าร้านสู่โซเชียลมีเดีย สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยกันคือ ความสัมพันธ์กับคู่ค้า ซึ่ง “ตาล” ได้พูดเรื่องนี้ในงานเสวนา “ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities” ของเดอะคลาวน์ เธอเล่าว่า การเข้ามาดูแลธุรกิจ ต้องให้ความสำคัญกับคู่ค้า ซึ่งการเข้ามารับช่วงต่อ ต้องสานสัมพันธ์ให้ก้าวหน้าต่อเนื่อง และสิ่งที่เธอใช้เป็นเครื่องมือในการสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าก็คือ “ความเข้าใจและความจริงใจที่ดีต่อกัน”
  ‘สมใจ’ เครื่องเขียน ในมือเจน3  ‘คู่ค้าคือคู่หู...คู่หูคือคู่คิด’

“หากปราศจากคู่ค้า ธุรกิจครอบครัวที่เราต้องดูแล รักษา และต่อยอด ก็คงไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ ความสัมพันธ์ที่ดี ต้องสร้างประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน”  
 

ในช่วงที่ธุรกิจทั้งหลายประสบภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การทำความเข้าใจต่อความต้องการและสถานการณ์ของอีกฝ่ายจากการคิดในมุมกลับ เอาใจเขามาใส่ใจเรา และประเมินสถานการณ์นั้นๆ ด้วยความเป็นกลาง ผ่านกฎ 5 ข้อ คือ 
 

  1. ความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
  2. สนับสนุนซึ่งกันและกัน
  3. มีความเข้าใจ
  4. ช่างสังเกต
  5. ความรวดเร็วและแข็งแรง 

 

นั่นคือ กลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาในยามวิกฤติได้ 
 

 

การร่วมกันสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ทั้งสองฝ่าย ต้องอาศัยความนอบน้อม เข้าใจ และพร้อมที่จะปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การให้ Exclusive Deal กับคู่ค้ารายหนึ่ง อาจทำให้เกิดความขัดแย้งต่อคู่ค้ารายอื่นๆ ในอนาคต เพราะฉะนั้น การสร้างขอบเขตระหว่างธุรกิจและคู่ค้า ต้องทำให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น การกำหนดจุดยืนที่ชัดเจน จะช่วยให้ธุรกิจของทั้งสองฝ่ายดำเนินการไม่ซ้อนทับกัน ลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น 
 

ขณะเดียวกัน นี่คือ กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวรักษาคู่ค้าต่อไปได้ และยังขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนและมั่นคง 

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,742 วันที่ 23 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564