‘นายประมง’ ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ หันจับตลาดไทย แตกแบรนด์ใหม่

21 ส.ค. 2564 | 02:46 น.

ในภาวะวิกฤติโควิด19 ครั้งนี้ “ความอดทน” และ “ความพยายาม” เป็นคุณสมบัติของผู้นำ ที่จะนำพาธุรกิจให้อยู่รอด ซึ่ง “จตุพล เก็งวินิจกุล”กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ เอ็น เอส อันดามัน จำกัด เจ้าของธุรกิจขนมขบเคี้ยวจากปลาข้างเหลืองแบรนด์ “นายประมง” คนนี้ มีพร้อมมากๆ

หากย้อนไปเมื่อ 13-14 ปีก่อน “จตุพล” ใช้ “ความอดทน” และ “ความพยายาม” ส่วนตัวผลักดันให้เกิดธุรกิจ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่เมื่อโอกาสมา เขาก็รีบคว้าทันที เมื่อเพื่อนต่างประเทศให้ช่วยติดต่อหาซื้อปลาข้างเหลือง เพื่อส่งออกไปในประเทศรัสเซีย ซึ่งมีความต้องการสูง เขาใช้เวลาเพียง 6 เดือน สร้างยอดขายได้สูงถึง 100 ล้านบาท

‘นายประมง’  ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ  หันจับตลาดไทย แตกแบรนด์ใหม่
 ครั้นเมื่อตลาดเติบโตได้ดี ก็เริ่มมีคู่แข่งเข้ามาชิงเค้ก และยังพบปัญหาโรงงานผลิตไม่ได้มาตรฐาน “จตุพล” จึงต้องกู้เงิน 30 ล้านบาทจากธนาคารมาลงทุน สร้างโรงงานเอง โดยนำเสนอยอดคำสั่งซื้อจากลูกค้าให้ธนาคารดู แล้วเขาก็สามารถทำได้ ทั้งการควบคุมมาตรฐานการผลิต พร้อมกับขยายตลาดใหม่ๆ ทั้ง เยอรมัน อิสราเอล ยูเครน และเริ่มสร้างแบรนด์สินค้า “นายประมง” ส่งออกสินค้าไปหลายประเทศทั่วโลก 
 ในขณะที่ธุรกิจกำลังขยายตัว เติบโตได้เป็นอย่างดี โควิด-19 ก็เข้ามาสร้างความปั่นป่วน ทำให้ลูกค้าต่างประเทศที่มีสัดส่วนมากถึง 80% โดยตลาดใหญ่คือรัสเซีย ที่กินยอดขายถึง 50% ต้องชะลอการสั่งซื้อ 

 

เมื่อธุรกิจมีปัญหา “จตุพล” ต้องปรับกลยุทธ์อีกครั้ง โดยมีการวางแผนระยะสั้นในการฝ่าวิกฤติโควิด ควบคู่กับแผนระยะยาว ที่ยังลุยเจาะตลาดต่างประเทศ โดยแตกไลน์สินค้าที่มาจากวิสาหกิจชุมชน อาทิ หน่อไม้ดอง ข้าวแต๋น และอื่นๆ ภายใต้ปั้นแบรนด์และบริษัทใหม่ “ส.สยาม” ซึ่งเขาตั้งเป้าว่า สินค้าแบรนด์ “ส.สยาม” นี้ จะเข้ามาช่วยเสริมรายได้ในช่วง 3-5 ปี หลังจากนี้ ผลักดันยอดรายได้รวมขององค์กรให้ขยับแตะ 500 ล้านบาท จากปี 2563 ที่ปิดยอดขาย 130 ล้านบาท 

‘นายประมง’  ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ  หันจับตลาดไทย แตกแบรนด์ใหม่
 ส่วนโปรดักต์เดิมที่มีปัญหา ก็เร่งปรับปรุง พร้อมสร้างตลาดใหม่ๆ เช่น สแน็คปลาที่จำหน่ายในรัสเซีย เดิมการรับรู้ (Perception) คือ สแน็กที่รับประทานเป็นกับแกล้ม แต่เมื่อต้องการหันมาจับตลาดไทยเพิ่ม ก็ต้องสร้างการรับรู้ใหม่ ด้วยการออกสินค้ารสชาติท้องถิ่น ที่ผู้บริโภคสามารถรับประทานเล่นเป็นสแน็คหนังปลากรอบทั่วไปได้ พร้อมกันนี้ ยังปรับสูตรหนังปลากรอบไข่เค็ม ที่ขายดีมากในสิงคโปร์ แต่มีจุดอ่อนที่ทานเยอะๆ แล้วอาจจะรู้สึกเลี่ยน ขณะเดียวกัน ก็ปรับช่องทางขาย เจาะช่องทางจำหน่ายสู่ห้างค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่นมากขึ้นด้วย 

ปัจจุบันแบรนด์นายประมง มีสินค้าประมาณ 50 รายการ (SKUs) ส่งออก 15 ประเทศ จำหน่ายในไทย 30 รายการ การปรับตัวครั้งนี้ ช่วยทำให้ยอดขายในไทยมีสัดส่วนเป็น 40% ส่งออก 60% “จตุพล” คาดหวังว่า หากโควิดคลี่คลาย “นายประมง” จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เพราะยังมีความต้องการในตลาด 


 ขณะที่การลุยเจาะตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญ ทำให้ “นายประมง” ยังได้ตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงการสร้างแบรนด์ “ส.สยาม” เข้ามาเสริมทัพ จะทำให้ช่วยผลักดันรายได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายแน่นอน
 

ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงคนนี้ กำลังใช้ “ความอดทน” และ “ความพยายาม” อีกครั้ง ในการฟันฝ่าอุปสรรคโควิด -19 ที่ยังไม่รู้จะจบลงเมื่อไร แต่ด้วยความอดทนและพยายาม คือทางรอดที่เขาพร้อมลุยเต็มกำลัง 


หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,706 วันที่ 19 - 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564