ณุศาศิริ ขอรัฐทุ่ม 5 พันล้าน ทำ Travel Bubble ดึงนักท่องเที่ยวล้านคน

29 ก.ค. 2564 | 10:51 น.

ณุศาศิริ เดินหน้าพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เมืองกัญชา มายโอโซน เขาใหญ่ หวังสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ปฎิรูปท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน แนะรัฐเร่งเปิดประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจ ขอทุ่มงบ 5 พันล้าน ทำ Travel Bubble จัดทัวร์ ดึงนักท่องเที่ยว 1 ล้านคน

นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงท่องเที่ยวและสุขภาพ "ณุศา มาย โอโซน เขาใหญ่ " กล่าวในงาน สัมมนา THAILAND SURVIVAL POST COVID " ไทยพร้อม...เปิดประเทศ ฟื้นท่องเที่ยว" ที่จัดขึ้นโดย  เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ในหัวข้อ : ท่องเที่ยววิถีใหม่ เศรษฐกิจยั่งยืน ว่า ขณะนี้ภาคเอกชน มีความคาดหวัง ต่อแนวนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลอย่างมาก แต่เป็นไปด้วยปัญหา-อุปสรรค ซึ่งหากสถานการณ์โควิด19 ในประเทศยังวิกฤติ จนไม่สามารถดำเนินการได้ เชื่อว่า ภาคการท่องเที่ยวจะกระทบอย่างหนัก และผู้ประกอบการบางส่วนจะอยู่ไม่รอดพ้นเดือนตุลาคมนี้ โดยสิ่งที่รัฐจะต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ โมเดลการเปิดประเทศที่อยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย แต่เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าได้ ผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐ และเอกชน ซึ่งขณะนี้เท่าที่พูดคุยกัน เอกชนมีความพร้อมอย่างมาก และอยากให้เกิดขึ้นอย่างช้า ภายในเดือน ตุลาคม- พฤศจิกายนนี้ 

 

เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมหลายด้าน เป็นพื้นฐานเดิม ที่ประเทศไหนๆก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ตั้งแต่ ธรรมชาติ วัฒนธรรม และด้านการแพทย์ - สุขภาพ ที่มีความโดดเด่นชัดในช่วงวิกฤติ ซึ่งหากรัฐส่งเสริมได้ตรงจุด จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานสูง 

 

ทั้งนี้ ในแนวทางที่อยากนำเสนอนั้น แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 

1. รัฐต้องเร่งส่งเสริม และสื่อสารให้ต่างประเทศเข้าใจถึงสถานการณ์โควิดในไทยอย่างเป็นจริง ระบุ พื้นที่ไหนเสี่ยง - พื้นที่ไหนปลอดภัย พร้อมรับนักท่องเที่ยว และ มีวิธีการอย่างไร เพื่อให้นักท่องเที่ยวสนใจ เกิดความเชื่อมั่น 

2.ลดขั้นตอนการเข้าประเทศที่ยุ่งยาก ควบคู่กับการสร้างความปลอดภัย เช่น ลดการตรวจหาเชื้อซ้ำซ้อน  ,ลดการกักตัวระยะยาว สำหรับประเทศต้นทางที่มีความปลอดภัยสูง 

3.การทำ Travel Bubble  กับ เมือง หรือ ประเทศที่มีความปลอดเชื้อสูง (สีเขียว) คล้ายกับโมเดลในประเทศสิงคโปร์  โดยหัวใจสำคัญ คือ ระบบรองรับที่รวดเร็ว และ ปลอดภัย ตั้งแต่เท้าเหยียบประเทศไทย  ไม่เช่นนั้น เราจะไม่ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ แต่จะได้แค่นักท่องเที่ยว ที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาเท่านั้น คล้ายกรณี 'ภูเก็ตแซนบล็อกซ์' ที่มองว่า ยังไม่สมบูรณ์แบบเท่าที่ควร เพราะภาพบางส่วน ปรากฎเป็นเมืองร้าง นักท่องเที่ยวเสียความรู้สึก ขณะผู้ประกอบการได้ไม่คุ้มเสีย เปิดแต่ขาดทุน
 

"เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐจะเทงบประมาณมาส่งเสริมโดยตรง เช่น วงเงิน 5 พันล้านบาท ประสานร่วมกับผู้แทนบริษัททัวร์ หรือ เอเยนซี่ ที่มีเครือข่ายรองรับ นำนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ เป้า 1 ล้านคนภายในปีนี้ ผ่านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่อหัว 5 พันบาท ทำโปรแกรมทัวร์ ค่าตรวจ - ค่าห้องพัก เพื่อดึงเงินกลับมาราว 1 แสนล้าน หากเริ่มคิดวันนี้ ขายเดือนกันยายน คาด ตุลาคมนักท่องเที่ยวจะสามารถเข้ามาได้  เพราะขณะนี้ต้องยอมรับ ว่า เราไม่สามารถพึ่งพากำลังซื้อภายในประเทศได้ ก่อนที่จะแย่ไปมากกว่านี้  " 


นางศิริญา ยังกล่าวว่า ในแนวปฎิบัตินั้น นอกจากรัฐบาลจะต้องเร่งเปลี่ยนชุดความคิด ความกังวลเรื่องความเสี่ยงจากการเปิดประเทศแล้ว ขอให้เร่งจัดตั้งทีมดำเนินการ เฉพาะส่วนมาดูแลการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวโดยตรงทันที  โดยสามารถใช้เทคโนโลยี 2 ทางเข้ามาช่วยได้  ในการติดตาม จัดกลุ่ม - กักตัวนักท่องเที่ยวแบบ Free คล้ายโมเดล Location Base Service เชื่อมต่อเครือข่าย 3 สนามบินหลักของประเทศ 

 

สำหรับบริษัท  ณุศาศิริ นั้น ขณะนี้ เดินหน้าโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส  " มาย โอโซน เขาใหญ่ " อย่างเต็มที่ ซึ่งประกอบไปด้วยที่พักอาศัย เชิงท่องเที่ยว และ ศูนย์ดูแลฟื้นฟู - สุขภาพ ในรูปแบบ Wellness Center โรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ สนามกอล์ฟ และอยู่ระหว่างการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร รวมถึงมีแพลทฟอร์มด้านสุขภาพที่สามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก เป็นความร่วมมือกับ พันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์กัญชา ร่วมสร้าง "มายโอโซน" เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวรายได้สูงให้เดินทางมารักษาและฟื้นฟูสุขภาพในประเทศไทยแบบระยะยาว สามารถเที่ยวชมฟาร์มกัญชา ชมกระบวนการผลิต แปรรูป ฝึกทำอาหาร เชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง เกิดการจ้างงานและกระตุ้นการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ นโยบายที่สำคัญ 5 ด้าน ของ  สร้าง "มายโอโซน" ให้เป็น เมืองกัญชาเพื่อสุขภาพครบวงจร คือ

1.ด้านองค์ความรู้และวิจัย ส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกร ( Academic & Promotion)

2.ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาคุณภาพ ( Product)

3.ด้านการรักษาและส่งเสริมให้เกิดเป็นสถานพยาบาลด้านการรักษา (Health)

4.ด้านการฟื้นฟูและดูแลสุขภาพ ( Wellness)

5.ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ( Cannabis Tourism Program)

 

ขณะนี้เตรียมไปเจาะตลาดใน อเมริกา ญี่ปุ่น และจีน โดยเตรียมพร้อมในด้านการสร้างองค์ความรู้ให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งแผนปัจจุบัน และ แพทย์แผนไทยในประเทศ สำหรับการใช้กัญชา - กัญชง เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ และเชื่อมต่อไปถึงระดับท้องถิ่น หมู่บ้าน ทุกจังหวัด ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ใหม่ที่ตั้งใจปลุกปั้น เตรียมประกาศในช่วงเดือนหน้า โดยเฉพาะ การเพิ่มรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น คล้ายโมเดล ทัวร์แหล่งผลิตไวน์ในต่างประเทศ ลักษณะผสมผสานวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ที่ไทยสามารถทำได้ทันที 

 

ทั้งนี้ 11 พฤศจิกายน นี้ เตรียมจัดงาน 'การแพทย์โลก' เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบ ให้กับผู้ประกอบการด้านการแพทย์ - เวลเนส เซ็นเตอร์ และเตรียมประสานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ให้เข้ามาพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้บริการต่อหัวให้สูงขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐีชาวต่างชาติ 

 

รูปแบบ สร้างเศรษฐกิจชุมชน ให้แข็งแรงด้วยการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อการแพทย์และสุขภาพ หัวใจหลัก คือ 

  • สนับสนุนและเพิ่มมูลค่าของสินค้าในเกษตรชุมชน 
  • สร้างแหล่งชุมชน ที่มีศักยภาพด้านการเกษตร ที่ปลูกพืนสมุนไพรไทยเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 
  • พัฒนาแหล่งที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ที่จะกระจายไปยังชุมชนต่างๆ