เฮือกสุดท้าย7สายการบินลดซอฟต์โลนเหลือ5พันล้านวอนรัฐคงจ้างงาน2หมื่นคน

21 ก.ค. 2564 | 04:25 น.

ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินประเทศไทย 7 สายการบิน ยื่นทวงถามซอฟท์โลนรัฐบาล หลังล่าสุดวงเงินขอสนับสนุนเหลือ 5 พันล้านบาท รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงธุรกิจเเละชีวิตพนักงานเกือบ 2 หมื่นคน หลังยื่นพิจารณามาเเล้วกว่า 478 วันยังไร้คำตอบ

วันนี้ ( 21 กรกฎาคม 2564)  สมาคมสายการบินประเทศไทย นำโดยนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการของ 7 สายการบิน จัดประชุมนัดพิเศษในรูปแบบ virtual conference หลังถูกระงับบินชั่วคราวตามคำสั่งของ ศบค. ตั้งเเต่วันนี้ (21 กรกฎาคม 2564)

 

โดยออกเเถลงการณ์ร่วม เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) หรือ ซอฟต์โลน ที่ทางรัฐบาลจะจัดสรรให้กับสายการบินทั้ง 7 สาย โดยทางสมาคมฯ ได้ยื่นเอกสารไปตั้งเเต่การระบาดของโควิด-19 รอบเเรก (เดือนมีนาคม 2563) และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

เฮือกสุดท้าย7สายการบินลดซอฟต์โลนเหลือ5พันล้านวอนรัฐคงจ้างงาน2หมื่นคน

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังได้เข้าพบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 เพื่อร้องขอให้เร่งพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทางสมาคมฯ ได้ส่งหนังสือติดตามล่าสุดอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

ณ ปัจจุบันก็ยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 478 วัน ตั้งแต่วันแรกที่ทางสมาคมฯ ยื่นหนังสือฯ ทั้งนี้ ล่าสุดสมาคมฯ ได้ปรับลดตัวเลขวงเงินการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) รวมของทั้ง 7 สายการบิน จากจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท (จากการยื่นขออนุมัติครั้งเเรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563) เหลือเพียง 5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมเกือบ 2 หมื่นคน

 

ในครึ่งปีหลังของ 2564 จากมาตรการรัฐบาลล่าสุดในการจำกัดการเดินทาง ส่งผลต่อการระงับการให้บริการชั่วคราว ในทุกเส้นทางบินเข้าออกพื้นที่สีเเดงเข้ม ตั้งเเต่ 21 กรกฎาคม 2564 (วันนี้) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัจจุบัน 7 สายการบิน มีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมกว่า 900 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบินอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินว่าอาจจะเเบกรับภาระไม่ไหว หากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือเเละเยียวยาจากภาครัฐโดยเร่งด่วน และอาจส่งผลต่อการกลับมาให้บริการในอนาคตของสายการบิน

 

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ โดย 7 สายการบิน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณามาตรการความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยประคองธุรกิจสายการบินเเละการจ้างงานพนักงานรวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบความเสียหายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเเละท่องเที่ยวภาพรวม

 

เนื่องจากสายการบินคือธุรกิจด่านหน้าสำคัญ ที่เชื่อมต่อให้เกิดการกระจายเเละสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ “ตลอดกว่าหนึ่งปีครึ่ง นับตั้งเเต่การเเพร่ระบาดของโควิด-19 สายการบินทั้ง 7 สาย ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเองเเละปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจให้รอดจากสถานการณ์อันยากลำบาก

 

ครั้งนี้ เรายังมีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟท์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว” นายพุฒิพงศ์กล่าว