ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ ปั้น ‘Happy Addey’ ไอศกรีมวีแกน    

26 มิ.ย. 2564 | 08:17 น.

ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ เปิดเกมรุกไอศกรีม Non-Dairy ปั้นแบรนด์ “Happy Addey” ปักหมุดกลางเมืองสปีดปั้มยอดขายผ่านดีลิเวอรี-โมเดิร์นเทรด

นางสาวอริสา กุลปิยะวาจา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย นมอัลมอนด์ นมวอลนัท และนมพิสตาชิโอ แบรนด์ 137 ดีกรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การรุกทำตลาดผลิตภัณฑ์นมทางเลือกเพื่อสุขภาพมีการเติบโตต่อเนื่อง

โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายการลงทุนเปิดโรงงานใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ทำให้มีกำลังการผลิตราว 3,000 ตันต่อเดือน จึงเพิ่มไลน์สินค้าและแตกไลน์สินค้าใหม่ให้มากขึ้น อาทิ กลุ่มนมข้าวโพด เป็นต้น จนปัจจุบันมีสินค้ามากกว่า 43 รายการ

ขณะที่ตลาดต่างประเทศยังคงเติบโตได้ดีโดยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยัง 30 ประเทศใน 5 ทวีป ผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดและออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโกลบอล เช่น อเมซอน และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ ทำให้ยอดขายและรายได้ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ยังคงเติบโตได้ดี แม้ว่ายังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ตาม

ล่าสุดบริษัทเปิดไลน์สินค้าใหม่ไอศกรีม Non-Dairy หรือไอศกรีมวีแกนเป็นรายแรก โดยปั้นแบรนด์ “แฮปปี้ แอดดี้” (Happy Addey) ไอศกรีมไม่ผสมนมวัว ไม่มีน้ำตาลทราย แคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับผู้แพ้นมวัว ผู้รักสุขภาพ ผู้ที่ทานอาหารเจและวีแกน ซึ่งผลิตภัณฑ์ในร้าน Happy Addey เป็นNon-Dairy ทุกรายการ โดยเปิดให้บริการสาขาแรกที่อาคารไทยซี.ซี.ทาวเวอร์ ถนนสาทร เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ด้วยทำเลที่โดดเด่นตั้งอยู่ในออฟฟิศขนาดใหญ่มีทราฟฟิกจำนวนมาก บวกกับการรุกช่องทางออนไลน์ผ่านช่องทาง LAZADA SHOPPY และดีลิเวอรีผ่าน food delivery service อาทิ แกรบฟู้ด ไลน์แมนฯลฯ รวมทั้งการขยายในช่องทางโมเดิร์นเทรด ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่ายในฟู้ดแลนด์ทุกสาขา และในอนาคตอันใกล้บริษัทมีแผนรุกโมเดิร์นเทรดเชนอื่นๆเพิ่มขึ้นด้วย

อริสา กุลปิยะวาจา

“ตลาดไอศครีมเป็นตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดค่อนข้างเยอะ แต่ แฮปปี้ แอดดี้ เป็นสินค้ากลุ่มนิชมาร์เก็ต ซึ่งยังไม่มีในตลาดมาก่อน เราเป็นร้านไอศครีมวีแกนเจ้าแรกในไทย ที่รองรับคนที่แพ้นมวัว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีรสชาติที่ดีด้วย เพราะอาหารสุขภาพถ้าดีต่อสุขภาพอย่างเดียวแต่ไม่อร่อยมันก็คงไม่เข้าถึงใจผู้บริโภค”
 

ผู้บริหารยังกล่าวอีกว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้ผู้บริโภคหลายๆประเทศประหยัด ไม่กล้าจับจ่าย แต่ในประเทศไทยยังมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาล ซึ่งทำให้บริษัทได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านมาตรการนี้ ทำให้บางช่องทางการขายเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วโดยเฉพาะช่องทางเทรดดิชั่นนอลเทรดในประเทศ

หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย บริษัทมีแผนรุกตลาดต่างประเทศเต็มที่ทั้งในส่วนของการขยายไลน์สินค้าและช่องทางจัดจำหน่ายในประเทศที่มีการส่งออกเดิม รวมทั้งเปิดตลาดในประเทศใหม่ๆ ผ่านการพบปะคู่ค้า และงานแสดงสินค้าต่างๆ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดขายในประเทศและส่งออก 50:50

ปัจจุบันตลาดนมทางเลือกจากธัญพืชมีมูลค่ารวมราว 520 ล้านบาท เติบโต 30% แบ่งเป็นกลุ่มนมจากอัลมอนด์ 70-80% ที่เหลือเป็นนมจากข้าว และถั่วเปลือกแข็งชนิดต่างๆ แม้จะเป็นตลาดใหม่ที่มูลค่าไม่สูงมากนักแแต่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง จากเทรนด์รักสุขภาพ ส่งผลให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย ทำให้ตลาดนมทางเลือกเพื่อสุขภาพเริ่มแข่งขันสูงขึ้นตามไปด้วย

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :