มองต่างมุม “เก็บค่าน้ำเกษตรกร” 66 ไร่

29 มี.ค. 2564 | 13:05 น.

ประเด็นร้อน “เก็บค่าน้ำเกษตรกร” 66 ไร่ เหมาะสม หรือไม่ “กมธ.เกษตรฯ” ชี้เหมาะสม ด้าน เกษตรกร ชาวนา-สวนยาง อาชีพเสี่ยงสูงไม่ควรเพิ่มต้นทุน “หาญณรงค์” แนะเพิ่มเงื่อนไข 2-3 ข้อ นิยาม "เกษตรเชิงพาณิชย์"

เก็บค่าน้ำ “ทรัพยากรน้ำสาธารณะ” ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในวงเกษตรกร ว่าภาครัฐจะมีนโยบายเก็บค่าน้ำ หลังการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564  ในการกำหนดเก็บค่าน้ำสาธารณะ จำกัดพื้นที่ 66 ไร่ ขึ้นไป ควรจะเก็บค่าน้ำหรือไม่

 

วีระกร คำประกอบ

 

นายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การเก็บค่าน้ำสาธารณะ ปัจจุบันเก็บอยู่แล้ว ในส่วนของพื้นที่ชลประทาน ถ้าเป็นการทำนาครั้งเดียวในระบบชลประทานไม่เก็บ ถ้านาปี น้ำขาดแคลน 1 ปีจะช่วย 1 รอบ ไม่เก็บค่าน้ำ มองว่าน่าจะเป็นโมเดลใช้รูปแบบเดียวกัน ถ้าเกิน 1 รอบคิดเงิน หากอยู่ในกรณีนี้ผมคิดว่าการที่ทำนาเพิ่ม มากกว่า 1 รอบ หรือ 1 ครั้ง ก็สมควรจะเก็บค่าน้ำ

 

แต่จะเก็บค่าน้ำมากน้อยอย่างไร ก็ต้องมาคำนวณ  หากใช้กรอบแนวทางอย่างนี้ผมเห็นด้วย เพราะผมคิดว่าเกษตรกรชาวนามีนาไม่ถึง 66 ไร่ ผมว่าไม่มี หรือถ้ามี ก็น้อยมาก แล้วถ้านาในชลประทานมีมากกว่า 55 ไร่ ถือว่าเป็นเกษตรชาวนาที่ร่ำรวย

 

“กรมทรัพยากรน้ำ” กฎหมายจะไม่ครอบคลุม หนอง คลอง บึง ซึ่งเมื่อขุดแล้วจะส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วน อปท.จะเก็บเงินหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของ อปท.นั้นๆ

 

 โจทย์หิน “เก็บค่าน้ำสาธารณะ” รัฐเอาด้วยหรือไม่?

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)  ผมว่าประเทศไทยตามธรรมชาติ มีน้ำอยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เก็บน้ำ ราคาพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ เกษตรกรก็เอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว จะไปเพิ่มภาระเพิ่มต้นทุนอีก ทำให้เกษตรกรต้องโกหกไปแยกแตกครัวเรือนอีก ทำให้บ้านเมืองโกหก หลอกลวง เป็นโรงตลก

 

“หากเป็นอาชีพ “เกษตรกร” ไม่ควรเก็บเลย ควรจะพัฒนาเกษตรกรที่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ นวัตกรรมใหม่ หาเทคโนโลยีใหม่ เสริมให้ทุกคนเข้าถึง ร่วมมือกัน ให้เกษตรกรรายย่อยร่วมมือกันได้ เพราะถ้าหากนายทุนเลิกเกษตรกรรายย่อยก็เอาตัวไม่รอด จะกระทบลามเป็นลูกโซ่ แล้วหากนายทุนกระทบ ก็จะโดนบวกราคาสินค้า ผลักภาระให้ประชาชนอีก ใครจะยอมขาดทุน”

 

นายอุทัย กล่าวว่า แทนที่รัฐบาลจะช่วยสร้างระบบเก็บน้ำฝน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพ ดีกว่าหรือไม่ เรื่องอ่างเก็บน้ำฝน ปกป้องการระเหย ซึ่งผมได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวนี้ให้กับนายกรัฐมนตรี ไปเรียบร้อยแล้ว

 

หาญณรงค์ เยาวเลิศ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีค กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. 2562  กล่าวคือ การกำหนดพื้นที่ครอบครอง เกษตรกร 66 ไร่ ขึ้นไป จัดเป็นเกษตกรเชิงพาณิชย์/อุตสาหกรรม ต้องพิจารณาว่าใช้น้ำในปริมาณเท่าไร ไม่ใช่ใช้กำหนดพื้นที่จำนวนไร่  เคยท้วงติงไปแล้วว่าไม่ควรกำหนดใช้มาตรฐานเกณฑ์เดียว เพราะถ้ากำหนดเงื่อนไขเดียวก็เป็นปัญหาตายเลย กล่าวคือ ในกรณีที่ใช้น้ำสาธารณะ ใช้ปริมาณน้ำเท่าไร ในเนื้อที่เท่าไร ซึ่งใน 66 ไร่  เกษตรกรอาจจะไม่ใช้น้ำสาธารณะทั้งหมด คุณให้ใช้การถือครองที่ดิน 66 ไร่ แล้วมาขึ้นทะเบียนทั้งหมด บ้าหรือไม่ จะสร้างปัญหาตัวเองทำไม ต้องเอาคนที่ใช้จริง เดี๋ยวก็โดนตรวจสอบเหมือนการถือครองที่ดิน

 

“ยกตัวอย่าง สวนปาล์ม ของนายทุน หรือ กงสี ของจังหวัดกระบี่ ใช้น้ำสาธารณะหรือไม่ ถ้าไม่ใช่น้ำสาธารณะ จะให้มาขึ้นทะเบียนทำไม นี่ก็มีคำถามว่าการขึ้นทะเบียนโดยเอาเกณฑ์อันหนึ่งอันใด ที่ไม่ใช่น้ำสาธารณะ หรือใช้น้ำสาธารณะจำนวนเท่าใด ควรจะมี 1 2 และ 3 ไม่ใช่การถือครอบครองที่ดินเพียง อย่างเดียว”

 

นายหาญณรงค์กล่าวว่า  ดังนั้นคนที่ชงขึ้นไป ไม่ใช่กำหนดในห้องแอร์ แล้วกระบวนการรับฟัง ก็รับฟังไปเป็นแค่พอพิธี  ผมยืนยันว่า สาระ พ.ร.บ.นี้ยืนยันว่าการใช้น้ำสาธารณะ ไม่ใช่น้ำในเขตชลประทาน หรือการใช้น้ำที่เป็นน้ำของตัวเองต้องมาจากแหล่งน้ำสาธารณะเท่านั้น

 

เดชา นุตาลัย

สอดคล้องกับ นายเดชา  นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า คำว่า "เกษตรเชิงพาณิชย์" ไม่ว่าจะ 5 ไร่ หรือ 10 ไร่ ก็ เรียกว่า เกษตรพาณิชย์ ทั้งนั้น ผมถามว่า หากจะใช้บริโภคอย่างเดียวผมถามว่า ข้าว 5 ไร่ ได้ข้าว 2-3 ตัน รับประทานเท่าไรถึงจะหมด อย่าง 1 ครอบครัว มีลูก 5 คน ก็แจกคนละ 20 ไร่ สุดท้ายรัฐก็จะไม่ได้อะไร มีคำถามย้อนกลับไปว่า ถ้าวันหนึ่งน้ำแล้ง รับผิดชอบหรือไม่ เพราะคุณเก็บเงินจะต้องรับผิดชอบถูกหรือไม่ น้ำท่วมรับผิดชอบหรือไม่ คุณเก็บเงินจะต้องรับผิดชอบนะ จะมาอ้างโน้นอ้างนี้ไม่ได้ เพราะคุณเก็บเงินค่าบริหารจัดการน้ำไป

 

" ผมถามว่าน้ำมาจากไหน "น้ำมาจากบนฟ้า" หรือ "พระเจ้าให้มา" มาเก็บไว้ในเขื่อน เขื่อนก็สร้างเงินโดยภาษีของประชาชน แล้วน้ำที่ใช้ในเขื่อนปล่อยออกมาก็ปล่อยกังหันไฟฟ้า ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าแรงน้ำกังหันไฟ ขดลวด ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นมาก็มาขายอีก คือ คุณใช้ประโยชน์ตรงนั้นไปแล้ว เรียกว่าผ่านกระบวนการขายไปแล้ว ยังมีบางส่วนหลุดออกมา ก็มาทำประปาอีก ก็มาขายอีก ผมถามว่าเกษตรกรที่อยู่ท้ายเขื่อน น้ำที่มาจากบนฟ้า มาจากห้วยหนอง คลองบึง ใช้ตรงนี้รัฐไม่ได้บริหารจัดการเลย จะมาเก็บได้อย่างไร เทวดาให้มาจะมาเก็บได้อย่างไร เอาเปรียบกันเกินไปหรือไม่"

 

นายเดชา กล่าวว่า "เกษตรกร" คือรากฐานของประเทศ เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงอาหารของโลกใบนี้ ประเทศชาติจุนเจือได้ก็เพราะเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร แต่เกษตรกรกับเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับเกียรติ ไม่ได้รับศักดิ์ศรี อย่างอาชีพอื่นเลย เป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ ร่ำรวยไม่ได้ ตั้งตัวได้ยากมาก เพราะฉะนั้นอย่ามาเอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ควรที่จะมาเก็บเงินกันแล้ว ต่อให้เกษตรกรปลูกกี่รอบก็ไม่ควรคิด เพราะคุณเก็บค่าใช้จ่ายไปแล้ว จะเอาอะไร 3-4 เด้ง รัฐต้องพอบ้าง ยืนยันว่าไม่ควรจะเก็บเลย ทุกวันนี้ "เกษตรกร "ยังลำบาก ยากจน ไม่พออีกหรือ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง