เร่งเชื่อมเพื่อนบ้าน  ถนนอุดร-บึงกาฬ ทางรถไฟแม่สอด

22 มี.ค. 2564 | 20:55 น.

หลังโควิดซารัฐเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์เชื่อมเพื่อนบ้าน เลือกแนว 4 เลนใหม่ตัดตรงอุดรธานีสู่บึงกาฬ รับสะพานข้ามโขง 5 การรถไฟฯนิเทศทางคู่สายใหม่ “แม่สอด-นครสวรรค์” 9.6 หมื่นล้าน

หลังโควิดซารัฐเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์โครงข่ายคมนาคมเชื่อมเพื่อนบ้าน กรมทางหลวงจัดประชุม 3 จังหวัด เลือกแนวเส้นทาง 4 เลนใหม่ตัดตรงอุดรธานีสู่บึงกาฬ รับสะพานข้ามโขง 5 ที่ลงเสาเข็มแล้ว เพื่อรับข้อเสนอไปออกแบบรายละเอียด ด้านการรถไฟฯเปิดเวทีตากนิเทศโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่แม่สอด-นครสวรรค์” ค่า 9.6 หมื่นล้านบาท

 

ที่จังหวัดอุดรธานี มีการประชุมสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงจังหวัดอุดรธานี-บึงกาฬ ครั้งที่ 2 ของสำนักแผนงาน กรมทางหลวง จัดโดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่น กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) บริษัท ทีเอสเค คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนส์ จำกัด โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้นำชุมชนในพื้นที่แนวสายทาง เข้าร่วมประชุมด้วย

 

ดร.วุฒิชัย พรรณเชษฐ์ ผู้จัดการโครงการ  ตัวแทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงรายละเอียดโครงการ

ดร.วุฒิชัย พรรณเชษฐ์ ผู้จัดการโครงการ เปิดเผยว่า หลังจากการที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจความเหมาะ และความเป็นไปได้ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ วิศศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ในโครงการนี้ ซึ่งครอบคลุม 3 จังหวัด 10 อำเภอ 29 ตำบล 20 หมู่บ้าน คือ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เป็นเวลา 540 วัน เบื้องต้นกำหนดแนวเส้นทางเอาไว้ 3 แนวเส้นทาง คือ แนวเส้นทางสีเขียว ระยะทาง 159 ก.ม.แนวสีน้ำเงิน ระยะทาง 151 ก.ม. และแนวสีแดง ระยะทาง 153 ก.ม.(ตามรูปภาพ)       

กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเห็นว่าแนวเส้นทางที่ 2 (สีน้ำเงิน) เหมาะสมมากที่สุด และได้ใช้แนวเส้นทางนี้ในการออกแบบเบื้องต้นและวิเคราะห์โครงการ และจัดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมดังกล่าว เพื่อขอรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเป็นข้อมูลในการออกแบบรายละเอียดต่อไป ซึ่งเส้นทางสายใหม่มีแนวเขตทางกว้าง 60 เมตร ถนน 4 ช่องจราจร สวนทางกันข้างละ 2 ช่อง/เลน เกาะกลางถนนเป็นคันคู และมีพื้นที่เตรียมไว้พร้อมขยายเป็นขนาด 6 ช่องทางได้ในอนาคต

3ทางเลือกแนว4เลนสายใหม่อุดรธานี-บึงกาฬ

 

เส้นทางใหม่นี้จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งสินค้า และการสัญจรของคน จากอีสานไปเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน เอเชีย และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ ที่สามารถเดินทางต่อไปสู่ท่าเรือน้ำลึกวุ่งอ๋าง ประเทศเวียดนาม ด้วยระยะทาง 200 กิโลเมตรเศษ กลับกันเส้นทางนี้ช่วยเสริมโครงข่ายการคมนาคมการขนส่งทางถนน ให้กับจังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ และภาคอีสาน ช่วยลดปัญหาหารจราจรขนส่งเดินทางของทางหลวงหมายเลข 2 ช่วงอุดรธานี-หนองคาย และหมายเลข 212 หนองคาย-บึงกาฬ ทั้งปัจจุบันและในอนาคตที่จะเพิ่มสูงขึ้น

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ประธานหอการค้าภาคอีสาน เปิดเผยว่า  ปัจจุบันนี้โครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ เริ่มการก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จในอีก 3-4 ปี ส่วนถนนสายใหม่นี้ได้แนวเส้นทางเบื้องต้น ซึ่งทางภาคเอกชนในพื้นที่ จะคอยติดตามความคืบหน้า การออกแบบ ตลอดจนขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ เนื่องจากมีความสำคัญสูง สอดคล้องกับสะพานข้ามโขงแห่งที่ 5 และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทั้งลดเวลาและระยะทาง ในการขนส่งสินค้า จากภาคอีสานไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก

บริษัทที่ปรึกษาเสนอแนวเส้นทางสีน้ำเงินเหมาะสมที่สุด

 

รถไฟทางคู่สายใหม่แม่สอด-นครสวรรค์จะเป็นทางรถไฟสายแรกที่เชื่อมพรมแดนด้านตะวันตก

ส่วนที่จังหวัดตาก การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จัดประชุมสัมมนาปฐมนิเทศโครงการ (ครั้งที่ 1) งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ.) เพื่อเตรียมการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 มีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตากจะเป็นประธานเปิดการสัมมนา และผู้แทน รฟท.แนะนำและให้ข้อมูลโครงการ

ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เห็นชอบจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียด (Detail Design) โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทาง 256 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 96,000 ล้านบาท และได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา วงเงิน 168 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 360 วัน ศึกษาแนวเส้นทาง เขตเวนคืน จัดทำรายละเอียดโครงการ และการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หากเส้นทางรถไฟสายนี้ได้ก่อสร้าง จะเป็นเส้นทางรถไฟสายแรก ที่เชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศ (แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก East-West Economic Corridor: EWEC)

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,663 วันที่ 21 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง