บิ๊ก‘ค้าปลีก’อ่วม พิษโควิด รายได้ร่วง กำไรหด  

07 มี.ค. 2564 | 08:07 น.

บิ๊กค้าปลีกอ่วม พิษโควิดฉุดผลประกอบการปี 63 ทรุด “ซีพี ออลล์” รายได้ร่วงในรอบ 10 ปี “CRC-CPN” กำไรลดฮวบ ด้าน “แม็คโคร” โตสวนกระแส

หลังสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ออกมาประเมินผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ว่าจะทำให้ค้าปลีกไทยสูญเสียเม็ดเงินไปถึง 5 แสนล้านบาท แม้จะมีการเติบโตของ E-Commerce อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยกับสิ่งที่สูญเสียไปได้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงและเห็นเป็นอย่างรูปธรรม คือ ผลประกอบการของ 4 บิ๊กค้าปลีก ที่พบว่า 3 ใน 4 พบว่า รายได้และกำไร ลดลงอย่างมากไม่ว่าจะเป็นบมจ. ซีพี ออลล์, บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น และ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา  มีเพียง บมจ. สยามแม็คโคร ที่มีรายได้เป็นบวก

โดยพบว่า “บมจ. ซีพี ออลล์” หรือ CPALL เจ้าของและผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่ง ณ สิ้นปี 2563 มีสาขารวมทั้งสิ้น 12,432 สาขา มีสาขาเพิ่มขึ้น 720 สาขา จากปีก่อนที่มีสาขารวม 11,712 สาขา ซึ่งการขยายสาขาสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ถือเป็นการดำเนินธุรกิจตามแผน

ขณะที่รายได้รวม 546,590 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 4.3%  และกำไรสุทธิ 16,102 ล้านบาท ลดลง 27.93%  ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี แสดงให้เห็นว่า ร้านสะดวกซื้อก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกันโดยปัจจัยมาจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ผนวกกับมาตรการของภาครัฐที่จำกัดจำนวนลูกค้าเข้ามาใช้บริการ 

ผลประกอบการกลุ่มค้าปลีก

จะเห็นว่าซีพี ออลล์ มีการปรับแผนธุรกิจหันไปสู่การเป็นร้านอิ่มสะดวก โดยพัฒนากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มให้มีความหลากหลายและตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภควิถีใหม่ (New Normal) รวมทั้งบริการใหม่ๆ เช่น ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine)  บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้ง ALL Online และล่าสุดยังมีบริการสั่งและส่งสินค้า (On-demand Delivery) ผ่านทางไลน์และแอพพลิเคชั่น 7-delivery 

อย่างไรก็ดี ในปี 2564 ซีพี ออลล์เตรียมใช้เงินลงทุน 11,500-12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท สำหรับขยายสาขาประมาณ 700 สาขาทั่วประเทศ การรีโนเวตสาขาเดิม 2,400- 2,500 ล้านบาท การลงทุนในโครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท และการลงทุนในระบบไอที 1,300-1,400 ล้านบาท 

ขณะที่ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC ถือเป็นปีที่เผชิญความท้าทายอย่างมาก หลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แม้เซ็นทรัล รีเทล จะปรับตัวแบบ V-shape  ในไตรมาส 3 และ 4 ทำให้ทิศทางธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว

แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้บริการกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ ทำให้ภาพรวมทั้งปี 2563 มีรายได้รวม 194,311 ล้านบาท ลดลง 13% กำไรสุทธิ 341 ล้านบาท ลดลง 97% ขณะที่ ช่องทางออมนิแชนนอล มียอดขายเติบโต 180% หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของยอดขาย

โดยนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กล่าวว่า การที่บริษัทมีแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Multi-category, Multi-format และ Multi-market  จึงช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากโควิด-19  

ขณะที่การปรับโมเดลธุรกิจ การเพิ่มช่องทางการขายและบริการใหม่ๆ ทำให้บริษัทยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดย ภาพรวมของกลุ่มแฟชั่น พบว่ามียอดขาย 46,223 ล้านบาท ลดลง 28% ส่วนกลุ่มฮาร์ดไลน์ มียอดขาย 52,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% ขณะที่ส่วนงานฟู้ด มียอดขาย 74,683 ล้านบาท ลดลง 7.2% 

ญนน์ โภคทรัพย์

ส่วนเป้าหมายในปี 2564 เซ็นทรัล รีเทล ประเมินว่าจะมีการเติบโตกว่า 10% โดยยุทธศาสตร์ระยะยาวคือการเติบโตด้วยแพลตฟอร์ม Customer-Centric Omnichannel  ทั้งในประเทศไทย, เวียดนาม และอิตาลี รวมทั้งการขยายสาขาในกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น ไทวัสดุ  โรบินสัน และ GO! (เวียดนาม) ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่มีศักยภาพด้วย

อีกกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัลที่ขับเคลื่อนด้านการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์อย่าง “บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ CPN  ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะการเปิด-ปิดให้บริการศูนย์การค้าชั่วคราวตามมาตรการของภาครัฐ ที่ช่วยลดการระบาดของเชื้อไวรัส ก่อนจะกลับมาเปิดให้บริการในไตรมาส 2

ขณะที่จำนวนลูกค้าเริ่มกลับมามากขึ้นในปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ก่อนจะเกิดโควิด ระลอกใหม่ ทำให้ช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปีชะงักงันไป ส่งผลให้ภาพรวมของรายได้ในปี 2563 ซีพีเอ็นยังมีรายได้รวม 32,062 ล้านบาท ลดลง 17%  มีกำไรสุทธิ 9,557 ล้านบาท ลดลง 19%  

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด ซีพีเอ็น กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนา ยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง เพราะการลงทุนที่เกิดขึ้นไม่ได้มุ่งหวังแค่ปีนี้หรือปีหน้า แต่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต โดยในปีนี้ยังลงทุนโครงการมิกซ์ยูส ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา อยุธยา และเซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา (กำหนดเปิดปี 2564)

เซ็นทรัลพลาซา

เซ็นทรัลพลาซา จันทบุรี (กำหนดเปิดปี 2565) และโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่ร่วมพัฒนากับบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) บนทำเลทอง “ซุปเปอร์คอร์ ซีบีดี” ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการในปี 2566-2567 เป็นต้นไป ตามยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568)ที่วางไว้

ขณะที่ “สยามแม็คโคร” เมื่อกลุ่มโฮเรก้า ทั้งโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหารและสายการบินซึ่งเป็นลูกค้าหลัก ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดขายหายไป ผนวกการปิดพื้นที่จำหน่ายชั่วคราวในบางกลุ่มสินค้า  แต่ยังคงมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้ง แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส และการเปิดฟอร์มแมทใหม่อย่าง Fresh@Makro   รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในรูปแบบ O2O (Online to Offline) ทำให้ยอดขายเริ่มฟื้นตัว จนกลับมามีกำไร 

อย่างไรก็ดี “โควิด ระลอกใหม่” ยังคงเป็นวิกฤติของผู้ประกอบการค้าปลีก ที่ยังต้องเฝ้าระวัง และตั้งรับมือเพื่อลดแรงเสียดและความเสี่ยงที่จะมีต่อเนื่องในปี 2564 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :