เพิ่ม thansettakij
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
นายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ(สทน.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวม การท่องเที่ยวในประเทศ เริ่มมีความหวังมากขึ้นแล้ว เพราะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เตรียมนำโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆ เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ ทั้งโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่จะเพิ่มจำนวนห้องพักอีก 2 ล้านห้อง และขยายเวลาดำเนินโครงการถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 รวมถึงโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ที่แปลงมาจาก “เที่ยวไทยวัยเก๋า”
ขณะนี้เอกชนรอความชัดเจนจากรัฐบาลในการออกโครงการกระตุ้นเหล่านี้ มาช่วยฟื้นการเดินทางมากขึ้น ส่วนแนวโน้มเทศกาลสงกรานต์ยังต้องรอประเมินเงื่อนไขของรัฐบาลก่อนว่า จะอนุญาตเดินทางได้หรือไม่ และเล่นน้ำได้อย่างไรบ้าง โดยประเมินว่า หากสามารถกำหนดให้เล่นน้ำได้ น่าจะมีความคึกคักมากขึ้น
ส่วนการปรับเงื่อนไขใหม่ของ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” เป็น “ทัวร์เที่ยวไทย” ที่จะครอบคลุมกลุ่มอายุเริ่มตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยรัฐบาลจะสมทบเงินให้กับผู้เข้าร่วมโครงการออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เบื้องต้นประเมินไว้ที่ 5,000 บาท ในมูลค่าการใช้จ่ายระดับ 12,500 บาทขึ้นไป แต่เงื่อนไขที่ออกมาจริงๆ ยังไม่แน่ใจว่า จะคงยอดเงินอัดฉีดไว้ที่เดิมหรือไม่
ดังนั้น จึงยังไม่สามารถประเมินอานิสงส์เชิงบวกหรือเม็ดเงินสะพัดหลังมีโครงการออกมาได้ชัดเท่าที่ควร โดยประเมินว่า เมื่อมีโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมา ไม่ว่า จะเป็นในรูปแบบใดก็ถือว่าช่วยได้ทั้งนั้น แต่จะมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่อง
“เงื่อนไขของโครงการหรือรูปแบบการกระตุ้นท่องเที่ยว จะมีความเหมาะสมหรือไม่ ยังบอกไม่ได้จริงๆ เนื่องจากความชัดเจนของรูปแบบโครงการและเงื่อนไขยังไม่ผ่านการพิจารณาจากครม. ซึ่งหากมีการกำหนดวันเวลาในการดดำเนินโครงการ รูปแบบ และเงื่อนไขที่ชัดเจน จึงจะสามารถประเมินได้ว่า จะสร้างแรงบวกให้กับท่องเที่ยวได้มากหรือน้อยเท่าใด”นายธนพลกล่าว
สำหรับกำลังซื้อในขณะนี้ที่ยังคาดหวังได้มาจากข้าราชการ พนักงานรัฐวิสหกิจเท่านั้น เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับเงินเดือนตรงตามปกติ ส่วนประชาชนทั่วไป กำลังซื้อยังไม่ฟื้นกลับมาเป็นปกติ ซึ่งไม่นับกลุ่มคนที่มีฐานะระดับกลางขึ้นไป เพราะมีสัดส่วนน้อยในจำนวนประชากรรวมของประเทศ โดยกลุ่มที่มีจำนวนมากเป็นกลุ่มแรงงานในภาคบริการและภาคการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้บางส่วนถูกเลิกจ้าง กลายเป็นผู้ตกงาน รายได้หายไป และยังไม่กลับมา เพราะสถานการณ์ในภาพรวมยังไม่ฟื้น ทั้งภาคธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจ
“หลังมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 และกระจายฉีดในประเทศแล้ว ยังใช้เวลานานกว่าจะครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ จึงมองว่าการฟื้นจริงๆ ของท่องเที่ยวอาจไม่ได้เร็วมากนัก ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่จะหดตัวอย่างต่อเนื่องด้วย โดยความหวังขณะนี้อยู่ที่รัฐบาลเท่านั้นจริงๆ เพราะเอกชนไปเองไม่ไหวแล้ว ที่พยายามยืนให้ได้ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็จะยืนได้กันอีกไม่นาน สะท้อนได้จากการปิดธุรกิจของหลายผู้ประกอบการในสายท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ทั้งโรงแรม บริษัททัวร์ ร้านอาหาร นวดสปา กระทบกันไปหมด”นายธนพลกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: