จี้รัฐอัดยาแรง ฟื้นประเทศรอบใหม่

11 ม.ค. 2564 | 23:25 น.

รัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาโควิด-19 รอบใหม่ ธอส. ออก 4 มาตรการลดภาระหนี้ ออมสิน พักหนี้ 3-6 เดือนในพื้นที่สีแดง เกษตรฯเร่งอัพเดตทะเบียนเกษตรกร ก่อนผุดเยียวยา รอบ 2 พาณิชย์เตรียมคาราวานสินค้าราคาถูก   

 

 

การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีจุดศูนย์กลางจากตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครก่อนจะกระจายไป 56 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ศบค.)ต้องประกาศจังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด/พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวม 28 จังหวัด หรือพื้นที่สีแดง 

แม้จะไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เหมือนการระบาดรอบแรกเมื่อกลางปีที่แล้ว แต่ก็มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการทำมาหากิน จึงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยา โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สั่งการให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาจัดทำมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เหมาะสมต่อไป

 

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ก่อนที่จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป แต่ยังไม่สรุปในรายละเอียดว่าจะเป็นรูปแบบไหนบ้าง

 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร อาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ(บอร์ด) ได้อนุมัติต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ ลูกหนี้เดิม 9 หมื่นล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในเดือนมกราคมนี้ออกไปอีก 3 เดือนหรือภายในเดือนเมษายน แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงจะออกมาตรการให้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้เดิมที่อยู่ระหว่างพักหนี้อยู่แล้วและลูกหนี้ใหม่ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จึงจะออกมาตรการเพิ่มเติมอีก 4 มาตรการ ให้ลูกหนี้้สามารถเลือกชำระหนี้ได้ตามกำลังความสามารถแทนการจ่ายค่างวดตามที่ธนาคารกำหนด เพื่อลดภาระของเงินงวดปกติ โดยจะมีทั้งเลือกชำระ 25% หรือ 50% 75% โดยจะตัดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อไม่เป็นภาระดอกเบี้ยในอนาคต โดยอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด เพื่อเสนอบอร์ดในสัปดาห์หน้า

จี้รัฐอัดยาแรง ฟื้นประเทศรอบใหม่

ด้านนายวิทัย รัตนากรผู้อำนวยการ ธนาคาร ออมสินกล่าวว่า ธนาคารได้ออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในจังหวัดพื้นที่สีแดง 28 จังหวัดตามคำสั่งศบค. ซึ่งมีลูกค้าสินเชื่อกว่า 1.9 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 6.7 แสนล้านบาท โดยจะพิจารณาให้ลูกค้าสามารถขอพักชำระเงินต้นไว้ก่อน โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือขอลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนได้ แล้วแต่กรณีขึ้นอยู่กับความหนักเบาของผลกระทบที่ได้รับ ซึ่งมาตรการครั้งนี้มีระยะเวลา 3-6 เดือน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนเข้ามาตรการช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่8 มกราคมนี้

 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) นายทะเบียนเกษตรกรและในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการเยียวยาเกษตรกร รอบ 2 แต่ทางกระทรวงเกษตรฯได้ตรียมความพร้อมอัพเดทการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จากฐานเดิมที่มีอยู่แล้วกว่า 7.5 ล้านคน โดยจะมีการเรียกประชุม 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมปศุสัตว์,กรมหม่อนไหม, การยางแห่งประเทศไทย (กยท.), กรมประมง, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และกรมสรรพสามิต เป็นต้น ทั้งนี้ตัวเลขที่ชัดเจนรอบนี้จะเป็นเท่าใดนั้น คาดในวันที่ 11 มกราคมนี้จะทราบผล 

 

สำหรับการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ปี 2563 มีเกษตรกร 7.56 ล้านรายได้รับเงินเยียวยารายละ 15,000 บาท โดย ธ.ก.ส.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.) รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 1.13 แสนล้านบาท

 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยังไม่มีมาตรการเชิงนโยบายของกระทรวงฯ ที่จะเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณสำหรับเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่มีมาตรการที่ขอความร่วมมือให้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมคุมเข้มเรื่องโควิด-19 ล่าสุดกระทรวงฯ พยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด เพื่อไม่ให้โรงงานอุตสาหกรรมติดปัญหา หรือสะดุด โดยต้องดำเนินการให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับโควิด-19

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า อยู่ระหว่างการหารือเพื่อหาข้อสรุปเรื่องมาตรการที่จะออกมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทรวงฯอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ถึงเรื่องของการเยียวยาและขับเคลื่อนการท่องเที่ยว หลังจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่วนการส่งเสริมการท่องเที่ยว แม้จะยังทำไม่ได้ในช่วงนี้ แต่ก็ต้อง หารือถึงแผนเตรียมความพร้อมในสเต็ปต่อไปว่าหลังโควิดคลี่คลาย เมื่อมีวัคซีนเข้ามา จะมีมาตรการใดบ้าง ที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติและส่งเสริมการเดินทางเที่ยวในประเทศ เพื่อให้พร้อมเดินหน้าต่อได้ทันที

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กระทรวงอยู่ระหว่างหารือแนวทางการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งคาดว่า น่าจะไม่แตกต่างมาตรการหรือโครงการเดิมที่กระทรวงเคยทำ เช่น โครงการให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก อย่าง โครงการธงฟ้าสู้ภัยโควิด-19  รวมถึงโครงการพาณิชย์ลดราคาเพื่อประชาชนที่ร่วมมือกับโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า ผู้ผลิต ในการนำสินค้าอุปโภคบริโภคมาลดราคาสูงสุดกว่า 80% และโครงการแลกสินค้าการเกษตร ซึ่งคาดว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงพาณิชย์ที่ชัดเจนน่าจะออกมาเร็วๆ นี้ 

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564