ดึง 3 ชาติ แก้ปัญหายางราคาตก

15 ก.ย. 2563 | 07:10 น.

ชาวสวนร้องจ๊าก ยางราคาร่วง 8 บาท/กก. ในช่วง 2 สัปดาห์ “อุทัย” ไขลาน “เออร์โก้” ผนึก 3 ชาติ “ ไทย- มาเลย์ฯ-อินโดฯ” แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ อย่าเป็นเสือกระดาษ จี้รัฐใช้เป็นเครื่องมือผ่าทางตัน

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

วันที่ 15 กันยายน 2563 นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.)  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (The International Rubber Consortium  หรือ IRCo : เออร์โก้) เกิดจากความร่วมมือของ 3 ประเทศผู้ผลิตคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินด้านการตลาดให้ราคายางพารามีระดับราคาที่สูงมีเสถียรภาพและเกษตรกรสามารถขายยางมีกำไรคุ้มการลงทุน บทบาทสำคัญของบริษัทร่วมทุนฯ คือเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางให้เกษตรกรสามารถขายยางพารามีกำไรคุ้มการลงทุน ราคายางพารามีการเคลื่อนไหวที่เป็นไปตามระดับปริมาณการผลิตและความต้องการใช้อย่างมีเสถียรภาพไม่มีความผันผวนมากจนเกินไปเพราะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านราคาทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2544 ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี (Bali Declaration 2001) ที่ เกาะบาหลีอินโดนีเซีย โดยให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่ารายได้ที่เป็นธรรมและผลตอบแทนสำหรับชาวสวนยางรายย่อยของทั้งสามประเทศ

 

“วันนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องใช้ “เออร์โก้” แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ  ปัจจุบัน ซีอีโอ นายพิเชฏฐ์ พร้อมมูล มีหน้าที่จะเป็นเลขาฯของ 2 หน่วย คือ บอร์ดของเออร์โก้ และบอร์ดไตรภาคีสภายางพารา (ไอทีอาร์ซี) โดย 2 คณะนี้อยู่ภายใต้รัฐมนตรีทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นปฐมของมาเลเซีย เพื่อแก้ปัญหาคายางตกต่ำ  จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ใช้ “เออร์โก้” เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 3 ประเทศ ด่วน”

 

 

ดึง 3 ชาติ แก้ปัญหายางราคาตก

นายอุทัย กล่าวว่า “เออร์โก้” เป็นเสือกระดาษ ทำอะไรอยู่ มีเงินเดือนเป็นแสนแต่กลับไม่ทำอะไรเลย ถ้าทำไม่ได้ก็ยุบไป ราคายางที่พุ่งผ่านมาผิดกลไกธรรมชาติ ขึ้นอยู่ชนิดเดียว  พอความต้องการพ่อค้าหมด ก็หยุดรับซื้อ ก็เข้าใจพ่อค้าต้องการกำไร ไม่ใช่ "มูลนิธิ" ดังนั้นสิ่งที่เรียกร้องก็คือ รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะต้องออกมาช่วยเหลือเกษตรกรโดยด่วน มองว่า แค่ พรบ.ควบคุมยางฯ ตรวจสต็อกพ่อค้าไม่เพียงพอ ต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ด้วย

 

“โรงรม/สถาบันเกษตรกร/สหกรณ์ "ขาดทุนยางแผ่นรมควัน" จากการที่รับซื้อยางไว้ราคาสูง ก็ขายไม่ได้ เพราะราคายางร่วงเร็วมากในช่วง 2 สัปดาห์ถึง 8 บาท/กก. ดังนั้น อย่าเพิกเฉย จะต้องเพิ่มมูลค่ายาง ไฟเขียวสินเชื่อถุงมือยาง เพิ่มกำลังการผลิต หาตลาดใหม่ โดยเฉพาะตะวันออกกลาง หรือประเทศที่ยังติดเชื้อโควิด มีความต้องการถุงมือยางมาก ดังนั้นไทยต้องพลิกโอกาสในการจู่โจม ไม่ใช่รอส้มหล่น ต้องฉวยโอกาสด้วยในการทำตลาด”