104 ปีกระทรวงคมนาคม เดินหน้ายุทธศาสตร์8ปี

01 เม.ย. 2559 | 03:55 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันนี้(1 เม.ย.2559) กระทรวงคมนาคมจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ครบรอบ 104 ปี โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมงาน ณ อาคารสโมสรและหอประชุมกระทรวงคมนาคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2455 มีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและบริหารจัดการคมนาคมขนส่งของประเทศให้เอื้อต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ในโอกาสที่กระทรวงฯ ครบรอบ 104 และก้าวเข้าสู่ปีที่ 105 กระทรวงฯ เดินหน้าพัฒนางานด้านคมนาคมขนส่ง โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ระยะ 8 ปี (พ.ศ. 2558 - 2565) ประกอบด้วย 5 แผนงาน ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ โดยมีแนวทางในการดำเนินงานทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ดังนี้

โครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ  ปัจจุบันโครงข่ายทางรถไฟมีระยะทางรวม 4,043 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บริการ 47 จังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นทางรถไฟทางเดี่ยว ใช้สำหรับขบวนรถวิ่งทั้งไปและกลับ ขบวนรถที่วิ่งขึ้นและล่อง ต้องวิ่งสวนกันหรือหลีกกันเป็นครั้งคราว ทำให้เกิดปัญหาการรอสับราง หรือวิ่งสวนกัน เกิดความล่าช้า และไม่สามารถเพิ่มขบวนได้ กระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยเชื่อมโยงโครงข่ายและการบริหารจัดการการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และบริการที่สะดวก ปลอดภัย ทั้งในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง และระหว่างประเทศ พร้อมผลักดันรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ โดยมีแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทาง 905 กิโลเมตร ประกอบด้วย เส้นทางฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย ชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ลพบุรี – ปากน้ำโพ มาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระนครปฐม – หัวหิน

นอกจากนี้จะพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร โดยจะออกแบบเป็นรถไฟทางคู่ ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) และจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในระยะต่อไป เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ กรุงเทพฯ – ระยอง และกรุงเทพฯ – หัวหิน โครงการความร่วมมือก่อสร้างทางรถไฟไทย – ญี่ปุ่น เส้นทางกาญจนบุรี - กรุงเทพฯ – อรัญประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ – แหลมฉบัง และเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Corridor) ตลอดจนให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงสร้างพื้นฐานทางถนน  กระทรวงคมนาคมมีถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ระยะทาง 66,871 กิโลเมตร กรมทางหลวงชนบท ระยะทาง 49,080 กิโลเมตร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระยะทาง 207.9 กิโลเมตร กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในเส้นทางสำคัญ ประกอบด้วย บางปะอิน – นครราชสีมา พัทยา – มาบตาพุด และบางใหญ่ - กาญจนบุรี เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางหลวงมาตรฐานสูงรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เป็นทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษขนาด 4 – 6 ช่องจราจร การปรับปรุงถนนเชื่อมโยงแหล่งเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวให้ครอบคลุม เข้าถึงทุกพื้นที่ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางถนน เช่น จุดพักรถบรรทุก สถานีขนส่งสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายระหว่างการขนส่งทางรางกับทางถนน เพื่อให้เกิดระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

โครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ

กระทรวงคมนาคม มีแผนพัฒนาการขนส่งทางลำน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเดินเรือได้ทั้งปี ดำเนินการปรับปรุงท่าเทียบเรือสาธารณะในแม่น้ำลำคลองให้มีความสะดวก ปลอดภัยได้มาตรฐาน เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่ประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเชื่อมต่อการเดินทางกับรูปแบบการขนส่งอื่น สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ได้เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าทางน้ำ เช่น ท่าเรือปากบารา ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนการดำเนินการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ระบบคมนาคมขนส่งเข้าสู่ท่าเรือ กฎระเบียบด้านศุลกากรที่เอื้อต่อการนำเข้า ส่งออก เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ดำเนินการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมารีน่าของอาเซียน

โครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ ประเทศไทยมีท่าอากาศยานจำนวน 38 แห่ง อยู่ในความดูแลกรมท่าอากาศยาน 28 แห่ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 6 แห่ง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด 3 แห่ง และกองทัพเรือ 1 แห่ง ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี คาดว่า ในปี 2563 จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 108,923 คน/เที่ยวต่อวัน และปริมาณการขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 396 ตันต่อวัน กระทรวงคมนาคม ได้เร่งผลักดันการใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 65 ล้านคน/ปี ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 18 ล้านคน/ปี เป็น 30 ล้านคน/ปี ท่าอากาศยานภูเก็ต ให้สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 7.5 ล้านคน/ปี เป็น 12.5 ล้านคน/ปี ประสานความร่วมมือกับกองทัพเรือ เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 รองรับปริมาณการเดินทางและการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้น และก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมของอำเภอเบตง จังหวัดยะลาและพื้นที่ใกล้เคียง และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

พัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะแก้ปัญหาจราจร  จากปริมาณการเดินทางของประชากรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี คาดว่าในปี 2563 จะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น เป็น 23.18 ล้านคน/เที่ยวต่อวัน ทำให้ความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 13.64 กิโลเมตร/ชั่วโมง กระทรวงคมนาคม จึงได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายขนส่งมวลชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้มีความทันสมัย ครอบคลุมพื้นที่บริการ และสอดคล้องกับการขยายตัวของเมือง ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทางมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ระยะทาง 464 กิโลเมตร ก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง ปรับปรุงรถโดยสารประจำทางให้ประชาชนได้ใช้รถที่ได้มาตรฐาน ลดมลพิษในเขตเมือง พร้อมกับการจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการระบบการให้บริการ เช่น ระบบตั๋วต่อตั๋วร่วม การให้บริการด้านทะเบียน การรับชำระภาษีของกรมการขนส่งทางบก เป็นต้น

กระทรวงคมนาคม ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยยึดความโปร่งใสเป็นหลักในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง สร้างโอกาสสำหรับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน สนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าที่พึ่งพาทางถนนเป็นหลัก ไปใช้การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า และการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยกระดับความคล่องตัวในการเดินทางและการขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อความสุขอย่างยั่งยืนของประชาชนได้อย่างแท้จริง