ก้าวต่อไปของธุรกิจครอบครัวเอเชีย

29 ต.ค. 2562 | 06:46 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คอลัมน์ Business Backstage โดย ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

หากจะกล่าวถึงธุรกิจครอบครัวแล้ว ภาพที่คนทั่วไปนึกถึงบางทีอาจเป็นร้านค้าหรือธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัวรูปแบบโบราณ ที่เปิดให้บริการในท้องถิ่นและอยู่ได้สัก 1 หรือ 2 ชั่วอายุคน แต่ในความจริงแล้วกว่าครึ่งของ 30 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดใน 27 ประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นเป็นธุรกิจครอบครัวเช่นเดียวกับ 40% ใน S&P 500 ซึ่งถือได้ว่าเป็นรูปแบบองค์กรที่สำคัญที่สุดในโลก ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวเป็นรูปแบบธุรกิจที่แพร่หลายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคิดเป็น 85% ของธุรกิจทั้งหมด

โดยที่บางแห่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ระดับโลก เช่น Samsung Electronics (เกาหลีใต้) Reliance Industries (อินเดีย) และ Chow Tai Fook (ฮ่องกง) ไม่เพียงธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดหลายแห่งจากเอเชีย-แปซิฟิกจะประสบความสำเร็จในการเติบโตอย่างมากโดยการก้าวสู่ความเป็นสากล (Internationalization) เท่านั้น หากแต่ก็ยังพบธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กและขนาดกลางที่เป็น Born Global หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่จะทราบว่าสินค้าตนเองเหมาะกับตลาดไหนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำธุรกิจจากทั่วโลกปรารถนาเช่นกัน

 

การเติบโตของธุรกิจครอบครัวเอเชียได้รับความสนใจจากทั้งผู้นำธุรกิจที่ต้องการปกป้องตลาด เห็นได้จากบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ของจีนในเวทีโลก การพัฒนาของกลุ่มเสือเศรษฐกิจเอเชีย การต่อสู้ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในภูมิภาคอาเซียน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโลกธุรกิจ Professor Mike Wright แห่ง Entrepreneurship at Imperial College Business School และทีมงานได้ศึกษาปัญหาที่ส่งผลต่อการขยายตลาดไปต่างประเทศของธุรกิจครอบครัว อันเนื่องมาจากลักษณะวิธีการดำเนินงานที่หลากหลายและขัดแย้งกันของธุรกิจในเอเชีย พบว่าในเอเชีย-แปซิฟิกนั้นรัฐบาลมีการผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ ก้าวไปสู่สากล แต่ยังมีข้อจำกัดที่เข้มงวดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของโดยชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ยังเห็นความแตกต่างอย่างมากของอัตราการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันและการพัฒนาเศรษฐกิจและความหลากหลายของวัฒนธรรมและสังคม อย่างไรก็ตามหลักการที่อธิบายความเป็นสากลและความสำเร็จทางธุรกิจของโลกตะวันตกอาจไม่ได้มีความหมายเช่นเดียวกันในภูมิภาคตะวันออกเสมอไป โดยสิ่งที่ท้าทายธุรกิจครอบครัวในเอเชีย ได้แก่

ก้าวต่อไปของธุรกิจครอบครัวเอเชีย

ธุรกิจครอบครัวอาจเสียเปรียบในการพยายามก้าวสู่ความเป็นสากลด้านความสามารถที่บางครั้งอาจต่ำกว่าบริษัททั่วไปในการแสวงหาและตีความหมายของความรู้ต่างๆ เนื่องจากภูมิหลังของครอบครัวที่เป็นแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตามความได้เปรียบคือสมาชิกในครอบครัวซึ่งทำหน้าที่เก็บความสามารถขององค์กร (Organizational memory) มีแนวโน้มรั่วไหลต่ำกว่า อย่างไรก็ตามคนรุ่นใหม่ในธุรกิจครอบครัวจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ ทำให้บริษัทมีมุมมองที่เป็นสากล โดยอาศัยประสบการณ์จากการมีโอกาสศึกษาในต่างประเทศของพวกเขา

บางครั้งสิ่งที่เรียกว่าความมั่งคั่งของทางสังคม (Socioemotional wealth) ของครอบครัวที่ประกอบด้วยชื่อเสียง อำนาจการควบคุม หรือผลประโยชน์ต่างๆ จะกลายมาเป็นอุปสรรคของความก้าวหน้าธุรกิจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พบอัตราการพัฒนาสู่ความเป็นสากลที่ไม่สม่ำเสมอนัก เราจึงมักพบว่าครอบครัวมักหลีกเลี่ยงการพัฒนาที่มองว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่อการถือครองความเป็นเจ้าของหรือการควบคุมบริษัทของตน

 

มีความแตกต่างในการก้าวสู่ความเป็นสากลระหว่างธุรกิจครอบครัวและบริษัททั่วไปในประเด็นที่เกี่ยวกับระดับเงินทุนที่มีอยู่ แต่หากเป็นบริษัทที่มีเงินทุนในระดับสูงอยู่แล้วพบว่าธุรกิจรุ่นเก่ามีโอกาสที่จะก้าวสู่ความเป็นสากล น้อยกว่าธุรกิจรุ่นใหม่ รวมไปถึงบริษัทที่มีเงินสดและหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาด (Financial slack) ในระดับสูงอยู่แล้วก็พบว่าธุรกิจครอบครัวในเอเชียมีแนวโน้มที่จะได้รับการผลักดันสู่ความเป็นสากลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับทั้งบริษัททั่วไปและธุรกิจครอบครัวในภูมิภาคอื่น

ธุรกิจครอบครัวมักประเมินทรัพยากรของตนเองสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ไม่เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง อาจเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในความก้าวหน้าได้

อย่างไรก็ตามขณะที่ธุรกิจครอบครัวในภูมิภาคอื่นมักจะก้าวสู่ความเป็นสากลอย่างช้าๆ แต่บริษัทในเอเชียมีโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนในต่างประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นทำให้ 2 ใน 3 ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาจากเอเชีย

ที่มา: Wright, Mike. 2018. 4 things to know about family-owned businesses in Asia. Available: https://www.imperial.ac.uk/business-school/knowledge/entrepreneurship-innovation/4-things-to-know-about-family-owned-businesses-in-asia/

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3517 ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคม 2562