เก็บภาษี 3% เครื่องดื่มสุขภาพ

26 ก.ย. 2562 | 08:00 น.

ครม.ไฟเขียว ลดภาษียาเส้น สำหรับเกษตรกรที่มียอดขายไม่เกิน 12,000 กิโลกรัม เหลือ 2.5 สตางค์ต่อกรัม

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 24 กันยายน มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อจัดเก็บภาษีสรรพ สามิตใหม่ 3 รายการคือ ลดอัตราภาษียาเส้น สำหรับเกษตรกรที่หั่นเอง ขายเอง จาก 10 สตางค์ต่อกรัมเหลือ 2.5 สตางค์ต่อกรัม แต่ปริมาณการขายต้องไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และออกประกาศเพื่อยกเว้นอัตราภาษียาเส้นที่เป็นวัตถุดิบ เหลือ 0% เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่จะนำยาเส้นไปใช้เป็นวัตถุดิบ จากเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 10 สตางค์ต่อกรัม แต่สามารถมาขอคืนได้ในภายหลัง

“การปรับลดอัตราภาษียาเส้นให้กับเกษตรกรไม่ได้ส่งผลให้ราคาขายยาเส้นปรับลดลง ยังใกล้เคียงของเดิม อย่างซองขนาด 20 กรัม ปัจจุบันซองละ 10 บาท ก็อาจจะปรับลดลง 20-25 สตางค์เท่านั้น ส่วนการยกเว้นภาษียาเส้นที่นำไปเป็นวัตถุดิบ เพราะมองว่าเดิมอาจจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ที่ต้องมาขอคืนภายหลัง จึงออกประกาศยกเว้นอัตราภาษีเป็น 0% ไปเลย โดยที่เกี่ยวกับภาษียาเส้นจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563”

เก็บภาษี 3% เครื่องดื่มสุขภาพ

นอกจากนั้นยังมีการกำ หนดในการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีนวัตกรรม หรือ Functional Drink โดยเปิดโอกาสให้มีอัตราภาษีพิเศษ นอกเหนือจากเครื่องดื่มทั่วไป เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นฮับในการผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและมีนวัตกรรม โดยแบ่งอัตราภาษีเป็น 2 ประเภทคือ กรณีที่มีการนำนํ้าผลไม้มาพัฒนาให้มีนวัตกรรม จากอัตราภาษีที่ต้องเสีย 10% ให้ลดเหลือ 3% และเครื่องดื่มเป็นนํ้าปกติ แต่มีนวัตกรรม เช่นเครื่องดื่มเกลือแร่บำรุง เครื่องดื่มที่มีคอลลาเจน  วิตามิน ปรับลดอัตราที่จะต้องเสีย 14% เหลือ 10%  โดยให้มีผลทันทีในวันที่ 1 ตุลาคม 2562  

 

    

ทั้งนี้ภายใต้พระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิต 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560  การจัดเก็บภาษีความหวานในช่วง 2 ปีแรก ซึ่งบังคับใช้วันที่ 16 กันยายน 2560- 30 กันยายน  2562 เครื่องดื่มนํ้าผลไม้ และนํ้าพืชผัก หากมีนํ้าตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร หรือครึ่งลิตร ไม่เสียภาษี  พอมาถึงช่วงที่ 2 เริ่มตั้งแตวันที่่ 1 ตุลาคม 2562-30 กันยายน 2564 จะเพิ่มอัตราการเก็บภาษีต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตรมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องดื่มที่มีนํ้าตาลไม่เกิน 10 กรัมยังคงเดิม แต่เครื่องดื่มที่มีปริมาณนํ้าตาลเกิน 10 กรัม จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 4 เท่าตัว 

เก็บภาษี 3% เครื่องดื่มสุขภาพ

กลุ่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณนํ้าตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะเสียภาษี 1 บาท/ลิตร จากเดิม 0.5 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 100% กลุ่มที่ปริมาณนํ้าตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม จะต้องเสียภาษี 3 บาท/ลิตร จากเดิม 1 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 200% และกลุ่มที่มีปริมาณนํ้าตาลเกิน 18 กรัม จะต้องเสียภาษี 5 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 400%

ส่วนช่วงขั้นที่ 3 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 -30 กันยายน 2566 เครื่องดื่มที่มีปริมาณนํ้าตาลไม่เกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ต้องเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณนํ้าตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และหากปริมาณนํ้าตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 5 บาทต่อลิตร

ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม2566 เป็นต้นไป หากมีปริมาณนํ้าตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ต้องเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ส่วนเครื่องดื่มมีปริมาณนํ้าตาลเกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และมีปริมาณนํ้าตาลเกิน 10 กรัมต่อลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นอัตราสูงสุด 

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3508 วันที่ 26-28 กันยายน 2562

เก็บภาษี 3% เครื่องดื่มสุขภาพ ​​​​​​​