อพท.คิกออฟ“ดาสต้า โค-ครีเอชั่น” หนุนฮีโร่พัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน

05 มิ.ย. 2562 | 07:16 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

อพท. จับมือ GSTC และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปั้น “ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว”ครั้งแรกในไทย พร้อมคิกออฟปฏิบัติการ ดาสต้า โค-ครีเอชั่น ขอเป็นนักประสาน หนุนฮีโร่ พัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืนสำเร็จ

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริการการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  เปิดเผยว่า อพท. โดย ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ ศทย. (DASTA Academy) สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC (Global Sustainable Touris Criteria) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตร “นักประเมินความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตามแนวทางของ GSTC” ให้แก่ผู้แทนจาก 13 มหาวิทยาลัย รวม 62 คน ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) 9 เขตทั่วประเทศ    

อพท.คิกออฟ“ดาสต้า โค-ครีเอชั่น” หนุนฮีโร่พัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน

โดยมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการประเมินความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตามแนวทางของ GSTC ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเครือข่ายการประเมินความยั่งยืนของ แหล่งท่องเที่ยวตามแนวทางของ GSTC ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั่วประเทศ  

อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมการอบรมที่จัดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และสำหรับในอาเซียนจะมี 2 ประเทศคือ ไทย กับ อินโดนีเซีย ที่เริ่มมีการจัดอบรมผู้ประเมินความยั่งยืนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในปีนี้ โดยมีสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC สนับสนุนส่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากรฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

อพท.คิกออฟ“ดาสต้า โค-ครีเอชั่น” หนุนฮีโร่พัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน

ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้เป็นผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญในการประเมินความสำเร็จของแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน GSTC ให้การยอมรับ ซึ่งผู้แทนจาก 13 มหาวิทยาลัยจะครอบคลุม 9 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) ทั่วประเทศ จึงเท่ากับว่าหลักสูตรและความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้ อพท. มีภาคีเครือข่ายในการประเมินความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวครอบคลุมทั่วประเทศ ในอนาคตตั้งเป้าหมายขยายภาคีเครือข่ายออกไปอย่างต่อเนื่องให้สามารถครอบคลุม 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวตามกฏหมายนโยบายการท่องเที่ยวฉบับใหม่ที่รัฐบาลจะประกาศขึ้นในอนาคต

รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอีกว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภารกิจหน้าที่ของ อพท. คือหน่วยงานผู้ประสานให้เกิดความร่วมมือนั้นๆ และเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ แก่หน่วยงานนั้นๆ ให้สามารถดำเนินการด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามแผนของหน่วยงานให้ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเปรียบได้กับว่าหน่วยงานนั้นๆ คือฮีโร่ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และ อพท. เป็นหน่วยงานที่จะเข้าไปสนับสนุนฮีโร่เหล่านั้น ให้เดินไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จและถูกต้อง

ทั้งนี้ อพท. จึงให้คำนิยามกับปฏิบัติการนี้ว่า ดาสต้า โค-ครีเอชั่น (DASTA co-creation) ประกอบด้วย วางแผน (Planning)  ดำเนินงาน (Implementing) และติดตามประเมินผล (Evaluating) ซึ่งกิจกรรมการอบรมครั้งนี้จัดเป็นการสร้างนักประเมินความยั่งยืน  ที่ได้จากการวางแผนและการดำเนินงาน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มงานด้านการพัฒนา

อพท.คิกออฟ“ดาสต้า โค-ครีเอชั่น” หนุนฮีโร่พัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน

ปัจจุบัน อพท. อยู่ระหว่างการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อจัดทำเป็น “คู่มือการวางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยกลไกการมีส่วนร่วมแบบ co-creation  หรือ Manual of DASTA co-creation for sustainable destination planning โดย GSTC เป็นผู้สนับสนุนองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

“การประเมินแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์ GSTC ผลที่ได้รับจะกลับมาในรูปองค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดงานวิจัยและแนวทางการพัฒนาที่เป็นระบบมากขึ้น ในกรณีที่เห็นปัญหาและต้องการการแก้ไข ส่วนการอบรมครั้งนี้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องทำการทดสอบตามมาตรฐานที่ GSTC กำหนด โดยเป็นการทดสอบรายบุคคล ผู้ที่ได้รับคะแนนทดสอบเกินร้อยละ 75 จึงจะถือว่าผ่านการฝึกอบรมฯ สามารถทำหน้าที่ในการเป็นนักประเมินความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตามแนวทางของ GSTC ร่วมกับ อพท. ได้ต่อไป”  ดร.ชูวิทย์ กล่าว  อพท.คิกออฟ“ดาสต้า โค-ครีเอชั่น” หนุนฮีโร่พัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน