กลุ่มไฟฟ้าเสนอทบทวน ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์

21 ก.พ. 2562 | 06:51 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กลุ่มไฟฟ้า ส.อ.ท. เสนอให้ทบทวน ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีกลไกที่เหมาะสม เป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ได้มีการประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมานั้น ผู้ประกอบการเห็นด้วยกับการมีพระราชบัญญัตติฉบับนี้ แต่เสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการซากฯ ให้มีประสิทธิผลเพียงพอในทางปฏิบัติและสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ผลิต โดยกลุ่มฯ ขอเสนอแนวทางในการแก้ไข พ.ร.บ.การจัดการซากฯ ดังนี้

1) ระยะเวลาที่บังคับใช้ใน พ.ร.บ. ไม่ควรน้อยกว่า 2 ปี หลังจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบได้ประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของอนุบัญญัติเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาเตรียมการ ภายหลังจากได้ทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว

2) ขอบข่ายผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการที่ให้บริการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ เป็นต้น และควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.

3) การเริ่มต้นบังคับใช้กฎหมาย เสนอให้บังคับใช้กับซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและสำนักงาน โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้เชิงเศรษฐศาสตร์ หรือ ความคุ้มทุนในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ควบคุม

 

[caption id="attachment_392520" align="aligncenter" width="503"] กนิษฐ เมืองกระจ่าง กนิษฐ เมืองกระจ่าง[/caption]

จากข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากฯ โดยจะขออนุมัติจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขยายเวลาการพิจารณาเป็นครั้งที่ 1 ออกไปอีก 45 วัน เพื่อพิจารณาทบทวนเนื้อหาใน พ.ร.บ.การจัดการซากฯ ดังกล่าว ให้มีกลไกการจัดการซากฯ ที่เหมาะสม เป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนและสามารถปฏิบัติได้จริง รวมทั้งป้องกันผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนบีโอไอปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า มีปริมาณขยะชุมชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 33 ล้านตัน ในจำนวนนี้แบ่งประเภทออกเป็น ขยะชุมชนไม่อันตราย 27 ล้านตันต่อปี ขยะชุมชนอันตราย 2 แสนตันต่อปี (เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ) และขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) เช่น คอมพิวเตอร์ ทีวี ตู้เย็น ฯลฯ อีก 4 แสนตันต่อปี

ด้าน ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ในปี 2561 นำขยะอุตสาหกรรมเข้าระบบทั้งสิ้น 31 ล้านตัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ขยะอุตสาหกรรมไม่อันตราย จำนวน 29 ล้านตัน เป็นขยะอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งรวมซากขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว รวมทั้งสิ้น 2 ล้านตัน เป็นตัวเลขที่อยู่ในระบบ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว