บสย.ตั้งทีมลุยค้ำประกันเอสเอ็มอี-เช่าซื้อ

14 ก.พ. 2562 | 07:23 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

บสย.ลุยตั้งทีมงาน ลงทุนพัฒนาระบบวิเคราะห์สินเชื่อ หนุนบริการลูกค้าเชิงรุก แบ่งเบาภาระสถาบันการเงิน มั่นใจคุณภาพสินเชื่อดีขึ้น ดันยอดคํ้าประกันสินเชื่อแตะ 1.07 แสนล้านบาท เจาะลูกค้าใหม่ 8.5 หมื่นราย พร้อมเดินหน้าคุยบริษัทเช่าซื้อในระบบ เล็งคํ้าประกันซื้อเครื่องจักร

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ทั้งระบบในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 6-7% คิดเป็นยอดคำขอสินเชื่อใหม่ 5-6 แสนล้านบาท ขณะที่มียอดชำระคืน(Re-Payment) 3-3.5 แสนล้านบาท ซึ่งปกติบสย.จะเข้าไปคํ้าประกันสินเชื่อราว 18-20%ของสินเชื่อใหม่หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อใหม่ 7-8% ถือว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากในอดีต ที่มียอดสินเชื่อราว 1% ซึ่งใกล้เคียงกับต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวันที่มียอดสินเชื่อ 10-11% และหากคิดเป็นจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีจะอยู่ที่ 10-11%ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น สะท้อนว่า บสย.ทำได้ค่อนข้างดี เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศใช้เครื่องมือการคํ้าประกันเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีเหมือนกับไทย เพราะประชาชนมีหลักประกันไม่พอถึง 99%

[caption id="attachment_388342" align="aligncenter" width="400"] วิเชษฐ วรกุล วิเชษฐ วรกุล[/caption]

สำหรับเป้าหมายในปีนี้ บสย.ได้ลงทุนเม็ดเงินหลักสิบล้านในการพัฒนาระบบและคน เพื่อวางเรื่องการบริหารความเสี่ยงและสร้างเครดิตสกอริ่งที่จะนำมาวิเคราะห์สินเชื่อ จะมีทีมวิเคราะห์สินเชื่อ 6 คน มาช่วยพิจารณาสินเชื่อ โดยลูกค้าสามารถเดินเข้ามาหาบสย.ก่อนจะไปธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งบสย.จะมีกระบวนการอนุมัติก่อนหรือ Pre-Approve ภายใต้หลักการพิจารณาเงินกู้ 5C เช่น ประวัติการชำระเงิน ความสามารถการชำระ เงินทุน หรือสัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) หลักประกัน และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงิน ประเภทวงเงินสินเชื่อ

ทั้งนี้บสย.จะเริ่มทำในกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน เช่นลูกค้ารายเล็กโดยบสย.จะออกเป็นหนังสือคํ้าประกันให้ลูกค้า เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อรวมถึงลดภาระงานที่ไปอยู่กับธนาคารพาณิชย์ด้วย ถือเป็นการต่อยอดการเป็นOne Stop Service โดยทำงานเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงจะช่วยให้คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น จากที่มียอดปฏิเสธสินเชื่อราว 1% ของคำขอสินเชื่อคํ้าประกันทั้งหมดที่มาจากธนาคาร ซึ่งปี 2561 ธนาคารทหารไทยและกสิกรไทยยังคงมีลูกค้าเข้ามาขอสินเชื่อคํ้าประกันเป็นอันดับต้นๆ ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) จะเป็นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย (ธพว.) และธนาคารออมสิน

สำหรับเป้าหมายการคํ้าประกันสินเชื่อปีนี้อยู่ที่ 1.07 แสนล้านบาท เติบโตราว 10%โดยมาจาก 2 ส่วนคือ ฐานลูกค้าเดิมที่มี 3.7 แสนราย ที่ต้องการวงเงินเพิ่มเติม และลูกค้าใหม่ที่ตั้งเป้าคํ้าประกัน 8.5 หมื่นรายเช่น กลุ่มแท๊กซี่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มส่งออกใน CLMV รวมถึงจะเน้นเจาะรายเซ็กเมนต์ เช่น กลุ่มสหกรณ์ และลีสซิ่ง-เช่าซื้ออย่าง ลูกค้าซื้อเครื่องจักร ถือเป็นกลุ่มที่สถาบันการเงินยังไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,444 วันที่  14 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว