เปิดจ.ม.12 องค์กรวิชาชีพยื่น"บิ๊กตู่"ค้านสร้างอาคารผู้โดยสารสุวรรณภูมิหลังที่ 2

30 ต.ค. 2561 | 12:38 น.
เปิดจดหมายที่12 องค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ได้ยื่น"บิ๊กตู่" เพื่อขอให้พิจารณาชะลอและทบทวนการจัดวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2)ในตำแหน่งใหม่ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแผนแม่บท (Master Plan) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA)ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาชะลอและทบทวนการจัดวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ในตำแหน่งใหม่ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแผนแม่บท (Master Plan) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “กะเทาะเปลือกสนามบินสุวรรณภูมิ” เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังสาธารณชนแบบเปิด (Open Dialogue) อย่างมีคุณภาพและประเมินผลร่วมกัน (Qualitative Research) โดยได้รับเกียรติจากองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 องค์กรเข้าร่วมรับฟัง ณ ที่ทำการสมาคมสถาปนิกสยามฯ ภายหลังจากการรับฟังข้อเท็จจริงที่นำเสนอต่อสาธารณะและผ่านการประเมินผลแล้ว ที่ประชุมองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องได้ประมวลผลร่วมกันซึ่งได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับการจัดวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ในตำแหน่งใหม่

โดยหนังสือที่ยื่นมีนายพันศักดิ์ เจริญ ผอ.ส่วนประสานงานมวลชนและองค์กรประชาชน ทำการรับมอบหนังสือและได้ส่งมอบให้ น.ส.ถนอมสิน ปีตวัฒนกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินการส่งเรื่องไปยัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและรมต.ว่าการกระทรวงคมนาคมตามลำดับต่อไป

สำหรับร่างหนังสือมีสาระดังนี้

arki2

"ข้อเสนอเพื่อโปรดพิจารณาชะลอและทบทวนการจัดวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2)
ในตำแหน่งใหม่ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแผนแม่บท (Master Plan) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
สำเนาเรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. รายนาม 12 องค์กรด้านวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
2. ตารางเปรียบเทียบ ข้อเสนอแนะในรายงานของ ICAO 2554 กับการพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลัง
ที่ 2 ตามแผนแม่บทปี 2561 ของทอท. และผลกระทบจากการดำเนินการที่เบี่ยงเบนโดย ทอท.

arki1

ตามที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีความประสงค์ที่จะจ้างออกแบบและก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2(Ter-2)ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยปรับเปลี่ยนตำแหน่งการวางอาคารหลังนี้ไปนอกพิกัดจากผังแม่บทเดิม จนเป็นเหตุให้สาธารณชนทั่วไปเกิดข้อโต้แย้งคัดค้านขึ้นอย่างต่อเนื่องมาในระยะหนึ่งแล้วนั้น
เพื่อเป็นการแสวงหาแนวทางยุติข้อโต้แย้งคัดค้านดังกล่าว มิให้ขยายวงกว้างไปอีกในการนี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ“กะเทาะเปลือกสนามบินสุวรรณภูมิ” เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังสาธารณชนแบบเปิด (Open Dialogue) อย่างมีคุณภาพและประเมินผลร่วมกัน (Qualitative Research)

arki3

โดยได้รับเกียรติจากองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 องค์กร(ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1.)เข้าร่วมรับฟัง ณ ที่ทำการสมาคมสถาปนิกสยามฯ ถนนพระราม 9 และภายหลังจากการรับฟังข้อเท็จจริงที่นำเสนอต่อสาธารณะแล้ว ที่ประชุมองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับการจัดวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2(Ter-2) ในตำแหน่งใหม่ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนผังแม่บทโดยมีเหตุผลประกอบการพิจารณาเพื่อมีมติร่วมกันดังกล่าว ดังต่อไปนี้

arki4

1)การที่ ทอท. ได้ชี้แจงต่อสาธารณชนว่าแผนแม่บทสนามบินที่ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2536 ทอท. ได้พัฒนาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อรองรับผู้โดยสารและรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงมาแล้วถึง5 ครั้ง แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปี 2544 มีแนวคิดในการปรับ Aircraft Stands ด้วยการเปลี่ยนรูปร่างของอาคาร Satellites จากรูปกากบาทเป็น Linear ณ ตำแหน่งเดิมตามแผนแม่บทเดิมเท่านั้น และต่อมาที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ(Project Management Consultant : PMC) ได้เห็นพ้องในการปรับLinear และ Tunnel Line จนสำเร็จในปี 2546 แม้ต่อมาทอท. มีความพยายามจะปรับปรุงแก้ไขแผนแม่บทโดยการจ้างศึกษามาเป็นระยะๆ แต่ก็เป็นเพียงแนวคิดและยังมิได้มีผลในเชิงปฏิบัติแต่ประการใด ทอท. จึงใช้แผนแม่บทปี 2546 มาโดยตลอดจนถึงวันนี้ ทั้งโดยบริษัท วิทยุการบินฯ เพื่อควบคุมการบิน และโดยทอท. ที่กำลังใช้ในการก่อสร้างอาคาร Satellite-1 (SAT-1) อยู่ในขณะนี้

arki5

2) นอกจากนี้การที่ทอท.ชี้แจงต่อสาธารณชนว่าแผนแม่บทสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยง่ายเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์นั้นการชี้แจงดังกล่าวก็เพื่อที่จะนำมาเป็นเหตุที่ ทอท. จะวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2)ที่ตำแหน่ง
ปลายของ Concourse A ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 นี้เท่านั้น โดยยกเหตุผลประกอบว่า ทอท. ได้ศึกษาวิธีการที่จะใช้ที่ดินแปลงนี้ให้มีศักยภาพสูงสุดเพื่อช่วยแก้ปัญหาในเชิงคุณภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ที่ดินแปลงนี้มีศักยภาพเหมาะสมที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่เพิ่มขึ้นเป็นอาคารหลังที่ 2 (Ter-2) เพราะมีหลุมจอดอยู่แล้วโดยเฉพาะอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) เป็นไปตามคำแนะนำของ The International Civil Aviation Organization (ICAO)ซึ่งเหตุผลดังกล่าวของ ทอท. ไม่สอดคล้องกับหลักฐานข้อเท็จจริงและมิได้เกิดจากการวิเคราะห์ Value Impact แต่ประการใด แต่กลับจะส่งผลกระทบเป็นปัญหาเกิดขึ้นตามมา ดังที่ปรากฏตามตารางเปรียบเทียบ(ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2.)
arki6

ตารางเปรียบเทียบที่ส่งมาด้วยนี้ ได้สรุปข้อมูลเพื่อให้เห็นความไม่สอดคล้องในสาระสำคัญตามข้อเสนอแนะในรายงานของ ICAO (2554) เปรียบเทียบกับการพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2)ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทปี 2561 ของทอท. หากนำไปปฏิบัติได้จริง

3) จากข้อมูลจากคำชี้แจงประกอบหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ของทั้งฝ่าย ทอท. และฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเสวนานั้นฟังเพิ่มเติมได้อีกว่าข้อมูลของ ทอท.มิได้เป็นไปตามแนวทางที่ ทอท. นำเสนอ เช่น กรณีที่ ทอท.ชี้แจงว่าการพัฒนาเป็นไปตามคำแนะนำของ ICAO ในรายงานเมื่อปี 2554 แต่จากแผนแม่บทใหม่ปี 2561 กลับไม่ได้เป็นไปตามผลรายงานอันเป็นสาระสำคัญของ ICAO อีกทั้งกรณีที่ ทอท. ชี้แจงว่าการปรับปรุงตามแผนแม่บทปี 2561 เป็นไปเพื่อให้มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารจำนวน 150 ล้านคนนั้นก็มิใช่เป็นผลจากการศึกษาของ ICAO แต่อย่างใด คำชี้แจงในส่วนนี้ ทอท. มิได้มีข้อมูลใดสนับสนุนโดยเฉพาะไม่มีรายการคำนวณและAircraft MovementSimulation บริเวณ Taxiway หน้าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2)ซึ่งเป็นเสมือน“ซอย”ที่คับแคบอยู่ในขณะนี้

arki7

4)ข้อชี้แจงของ ทอท. หลายประการ น่าจะคลาดเคลื่อนจากเอกสารหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ จนทำให้เกิดข้อขัดแย้งและสร้างความไม่ศรัทธาต่อสาธารณชนเป็นอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่องค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์แล้วพบว่า มีข้อที่น่าวิตกกังวลในประเด็นที่ว่า หากมีการลงทุนด้วยงบประมาณสูงกว่า 42,000 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ที่ผิดไปจากแผนแม่บทเดิม ในเชิงการประเมิน(Quantitative Evaluation) แล้ว อาจจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อสนามบินและประเทศชาติในอนาคตเป็นอย่างสูงได้

อนึ่งมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า การคัดค้านการพัฒนาตามแผนแม่บท ซึ่งรวมอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2)ของ ทอท. ณ ปลาย Concourse A นั้นมีมาโดยตลอดทั้งจากภาคประชาชนทั่วไป ผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์กรวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม รวมถึงอดีตที่ปรึกษาของ ทอท. ในปี 2557 โดยกลุ่มEPM Consortiumซึ่ง
ทอท. ได้ทำสัญญาจ้างศึกษาด้วยงบประมาณเกือบพันล้านบาท แต่การคัดค้านกลับมีผลให้ถูกบอกเลิกสัญญาจ้างในเวลาต่อมา

จากเหตุผลตามที่ได้เรียนมาแล้วข้างต้น ที่ประชุมองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ เห็นควรเสนอ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาสั่งการ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ชะลอเพื่อให้มีการทบทวนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ณ ตำแหน่งใหม่ปลาย Concourse A นอกพิกัดแผนแม่บทโดยเสนอแนะให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ให้เป็นไปตามแผนแม่บทเดิมโดยเร็ว

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ตามข้อเสนอแนะของInternational Air Transport Association(IATA) “Immediate and Long-Term Priorities for Thailand’s Airports”ที่ระบุไว้ว่า“… IATA strongly supports the approval of Phase 2 terminal expansion plans to relieve congestion and maintain a focus on passenger experience…, Commencement of Phase 2 Terminal Expansion of BKK…, (IATA, 2017)”
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาสั่งการกระทรวงคมนาคมให้เร่งแก้ไขปัญหา เดินหน้าพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ในตำแหน่งที่ถูก-ที่ต้อง-ที่ควรต่อไปด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
(นายอัชชพล ดุสิตนานนท์)
นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2561– 2563

สำหรับ รายนาม 12 องค์กรด้านวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งร่วมประเมินผล
ประกอบด้วย:
1. สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
2. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
3. สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย
4. สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
5. สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย
6. สมาคมนักผังเมืองไทย
7. สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย
8. องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(แห่งประเทศไทย)
9. องค์กรเอกชน
10. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
11. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
12. สถาบันอาศรมศิลป์ "

[caption id="attachment_340251" align="aligncenter" width="503"] เปิดจ.ม.12 องค์กรวิชาชีพยื่น"บิ๊กตู่"ค้านสร้างอาคารผู้โดยสารสุวรรณภูมิหลังที่ 2 เพิ่มเพื่อน [/caption]