อย่าหลอกเกษตรกร.....เพื่อแลก1เสียง

27 ต.ค. 2561 | 00:17 น.
อย่าหลอกเกษตรกร.....เพื่อแลก1เสียง

จับตาให้ดีเข้าสู่โหมดหาเสียงทีไร  มาตรการอุ้มเกษตรกร และการแก้ปัญหาความยากจน ดูเหมือนจะเป็นมาตรการยอดฮิตลำดับแรกๆ ที่บรรดานักการเมืองต่างปฎิเสธไม่ได้

เพราะฐานเสียงส่วนใหญ่ก็มาจากประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ  ประชาชนที่มาจากการประกอบสัมมาอาชีพทำไร่ ทำนา ทำสวน หรือทำการเกษตรกรทั่วๆไป   ที่มีจำนวนประชากรทำงานอยู่ในภาคเกษตรมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานไทย

จะมีสินค้าเกษตรเพียงไม่กี่ตัว ที่นักการเมืองมักจะงัดออกมาโหมโรงด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งให้ความหวังว่า จะทำให้ราคาพืชผลดีขึ้นโดยเฉพาะพืชเกษตรยอดฮิตอย่างข้าว  มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม และยางพารา  ที่ส่วนใหญ่จะออกมาคล้ายๆกับหนังม้วนเดิมชูเรื่องรับประกันราคา  การเข้าไปแทรกแซงตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น  จนกลายเป็นว่าพืชเกษตรเหล่านี้เป็น”พืชการเมือง”ไปแล้ว

ปลูกอ้อย-6

การหาเสียงของนักการเมืองที่จะเข้าสู่สนามการเลือกตั้งครั้งใหม่ แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งจะต้องชูเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  ด้วยเหตุผลที่คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ( ข้อมูล ณ ปัจจุบันคนไทยอยู่ในภาคเกษตรกว่า 11.6 ล้านคน) ถือว่าเข้าทางนักการเมือง  อาศัยช่องโหว่ที่เวลานี้มีสินค้าเกษตรหลายรายการราคาตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นยางพารา  ปาล์มน้ำมัน อ้อย สับปะรด ไก่เนื้อ ลองกอง เงาะ และอื่น ๆ มาเป็นตัวเปรียบเทียบ

ชาวนากองข้าว

ยกตัวอย่าง  ยางพารา ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2560 ได้ประกาศจะผลักดันราคายางพาราให้ขยับไปที่ระดับ 60 บาท/กิโลกรัม(กก.) แต่ผ่านมาเกือบจะครบปีแล้ว  ราคายางทุกชนิดในประเทศ ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2561 ยังเฉลี่ยเพียง 38-43 บาท/กก.เท่านั้น ซึ่งยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยเฉลี่ยที่ 60 บาท/กก.

ปาล์ม

ส่วนราคาปาล์มน้ำมันล่าสุด ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2561 ราคาที่เกษตรกรขายได้ยังเฉลี่ยที่ 2.95-3.20 บาท/กก. ยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรระบุเฉลี่ยที่ 3.80 บาท/กก.(ส่วนรัฐระบุต้นทุนเกษตรกรอยู่ที่ 3 บาท/กก.)  แค่ 2 สินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำนี้ ก็มีน้ำหนักเพียงพอที่นักการเมืองจะใช้หาเสียงได้   เรียกว่าดึงจุดบอดของรัฐบาลปัจจุบัน มาเป็นไฮไลต์ในการหาเสียงเปรียบเทียบ  แม้เวลานี้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะเร่งแก้ไขปัญหา แต่การจะเสกราคาให้พุ่งขึ้นในเร็ววันคงเป็นเรื่องยากไปส่ะแล้ว

-อย่าดันทุรังสัญญาลมๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าบรรดานักการเมืองยังงัดมาตรการต่างๆออกมาขาย  หวังเพียงเพื่อแลกคะแนนเสียง 1 เสียง และเมื่อได้รับเลือกเข้ามานั่งในตำแหน่งทางการเมือง กลับไม่สามารถทำได้จริงดังคำมั่นสัญญา   ก็อย่าดันทุรังออกมาตรการอันสวยหรูมาซ้ำเติมเกษตรกรที่รอความหวังครั้งแล้วครั้งเล่าอีกเลย

อย่าให้“พืชการเมือง”กลายเป็นปัญหาการเมือง ที่อาจจะย้อนกลับมาอีกในรูปของม็อบชาวสวนยาง  ม็อบชาวไร่อ้อย ลุกฮือทั่วประเทศนับแสนครัวเรือน ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ทวงสัญญาจากรัฐบาลเพราะปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำถือเป็นปัญหาเกษตรกรโดยตรง  เป็นเรื่องปากท้อง เรื่องใกล้ตัว ที่สัญญาแล้วต้องปฏิบัติให้ได้จริง!!!

มักเกิดคำถามว่า......ทุกรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  แต่ทำไมยังเกิดปัญหาซ้ำซาก  ปัญหาเกษตรกรยังแบกหนี้สินล้นตัว  ปัญหาเอสเอ็มอียังไม่เข้าถึงแหล่งสินเชื่อ  เกิดปัญหาสังคมที่เริ่มต้นมาจากความยากจน นักการเมืองที่กำลังลงสนามแข่งต้องออกแรงกับการลงไปแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังได้แล้ว  ทำให้ประชาชนเชื่อใจอย่างไม่ลังเลว่า เมื่อเลือกท่านเข้ามานั่งบริหารประเทศแล้วไม่ผิดหวัง

ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลค่อนข้างละเลยกับคนในกลุ่มรากหญ้า เหมือนวันนี้จะเห็นว่าจีดีพีเติบโตดี แต่ยังเป็นในลักษณะ “รวยกระจุก จนกระจาย”  รวยกระจุกเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ขณะที่ความยากจนยังกระจายอยู่กับคนส่วนใหญ่จากภาคเกษตร ชาวไร่ ชาวนา  ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำของรายได้ที่ห่างกันมาก   เหมือนเสียงบ่นจากรากหญ้าว่า “ จีดีพีดีขึ้น แต่ประชาชนกลับยังไม่เห็นรู้สึกว่าดีขึ้น เพราะเงินในกระเป๋าน้อยลง”

-ดูนโยบายให้ดีเป็นไปได้แค่ไหน

นายพรายพล  คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ  แสดงความเห็นสอดคล้องกันว่า พืชเกษตรทั้งข้าว ยาง ปาล์ม อ้อย ล้วนเป็นพืชเกษตรที่มีคนปลูกจำนวนมาก มีคนนับล้านที่เกี่ยวข้อง และเป็นฐานเสียงได้อย่างดี และเครื่องมือที่ใช้หาเสียง ไม่จำนำก็ประกันราคาพืชผล   โดยการแทรกแซงของรัฐ ใช้เงินจากองค์กรรัฐ  และส่วนใหญ่ไม่สำเร็จ  เพราะราคาพืชผลหลายอย่างขึ้นอยู่กับตลาดโลก  หากราคาในตลาดโลกดีก็ไม่จำเป็นต้องไปออกแรงทำอะไร

จึงเป็นเรื่องยากที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซงตลาดได้นาน  เพราะยังมีข้อจำกัดด้านการเงิน  ดังตัวอย่างที่เคยปรากฏบางรัฐบาลเคยออกมาอุ้มข้าว สุดท้ายก็ขาดทุนนับแสนล้าน ฉนั้นไม่ว่าจะเป็นการประกันราคาข้าว หรือรับจำนำข้าว ก็ล้วนแต่ใช้เงินอุ้มทั้งนั้น และไม่สามารถอุ้มได้ระยะยาว

พรายพลคำพูด

ในแง่ประชาชนจำเป็นต้องดูว่ามาตรการที่นักการเมืองออกมาหาเสียงและให้สัญญานั้น มีความเป็นไปได้แค่ไหน สามารถทำได้จริงหรือไม่  ต้องใช้เงินมากหรือไม่ และเมื่อใช้เงินมาก เงินอาจรั่วไหล โอกาสที่จะเกิดการทุจริตก็มีสูง  บางรัฐบาลออกมาประกาศว่าจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลง  หรือทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น  แต่อย่าลืมว่าสินค้าเกษตรหลายตัวอิงราคาตลาดโลก และเราก็ไม่สามารถไปควบคุมราคาตลาดโลกได้  หรือมาตรการบางอย่างก็มีข้อจำกัดในแง่งบประมาณ

วันนี้แม้มีเสียงตะโกนออกมาจากคนหลายกลุ่มว่าเรากำลังเดินไปกับประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบ  แต่อย่างน้อยการให้คำมั่นสัญญาอะไรไว้ตอนหาเสียงก็ควรปฎิบัติให้ได้ตามนั้น เพราะทุกวันนี้ลำพังชาวไร่ ชาวนา ต้องต่อสู้กับปัญหาดิน ฟ้า อากาศ บางปีน้ำท่วม บางปีแห้งแล้ง ก็เสี่ยงพอแล้ว

ขออย่าซ้ำเติมเพียงแค่แลก 1 เสียงให้เข้าสู่เส้นทางการเมืองได้ด้วยนโยบายขายฝัน  แต่ปฎิบัติจริงไม่ได้  อย่าทำแบบนี้อีกเลยนักการเมืองไทยทั้งหลาย !!!